เคยสงสัยไหมคะ ว่าทำไมเราถึงตัดผมตามดาราคนนั้นแล้วดูไม่เหมือน หรือทั้ง ๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมยี่ห้อเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับออกมาไม่เหมือนกัน นั่นก็เป็นเพราะคนเรามีลักษณะเส้นผมโดยกำเนิดที่แตกต่างกันค่ะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ บางคนผมหยิก ผมบาง บางคนผมเส้นเล็ก บางคนผมร่วงผมบาง ในขณะที่บางคนผมหนาดกดำ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นลักษณะเส้นผมของเราที่เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเพื่อที่จะดูแลรักษาเส้นผมให้เหมาะสมกับลักษณะเส้นผมของเรานั่นเอง
เรื่องควรรู้เกี่ยวกับลักษณะเส้นผม
เมื่อพูดถึงผม เราก็จะนึกถึงเส้นผมยาว ๆ บนหนังศีรษะของเรา แต่แท้จริงแล้วหน่วยผมของคนเรามีส่วนประกอบอยู่หลายส่วนค่ะ ได้แก่ เส้นผม รากผม และต่อมไขมัน สามารถเรียกรวม ๆ ได้ว่า ต่อมผม (hair follicle)
เส้นผม (Hair)
เส้นผมของเราประกอบไปด้วยเคราติน ซึ่งการที่เราเห็นผมของเรายาวออกมานั้น เป็นเพราะที่โคนผมของเรามีเซลล์รากผมที่จะแบ่งตัวออกไปเรื่อย ๆ เซลล์รากผมที่ตายแล้วจะทับถมกันจนกลายเป็นลักษณะเส้นผมยาว ๆ ที่เราเห็นกัน
รากผม (Hair root)
รากผม เป็นเซลล์ที่ฝังตัวในหนังศีรษะ เซลล์รากผมหนึ่งรากจะมีต่อมรากผมประมาณ 5 ล้านต่อม ต่อมรากผมจะมีปุ่มปลายแหลมซึ่งมีเส้นเลือดและเส้นประสาทมาเลี้ยง หากปุ่มปลายแหลมนี้ฝ่อ หรือตาย ก็จะไม่มีการแบ่งเซลล์ออกมาเป็นเส้นผม และทำให้เส้นผมบริเวณนั้นหายไปอย่างถาวร เป็นต้นเหตุอาการศีรษะล้านนั่นเอง
ต่อมไขมัน (Sebaceous glands)
ต่อมไขมันที่รากผม เป็นต่อมที่ผลิตน้ำมันเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับหนังศีรษะและเส้นผมของเรา โดยการ หลั่งสารประเภทน้ำมันหรือซีบัม (Sebum) ออกมา โดยปกติแล้วต่อมไขมันจะผลิตน้ำมันออกมากจามรูขุมขนไม่ให้มากหรือน้อยจนเกิดไป เพื่อรักษาสมดุลความชุ่มชื้นของเส้นผมและหนังศีรษะ หากผลิตออกมามากไปก็จะทำให้ผมมัน หากน้อยไปก็จะทำให้ผมแห้งได้ค่ะ
โครงสร้างของเส้นผมของคนเราเป็นอย่างไร
ก่อนจะไปรู้จักกับลักษณะเส้นผมแต่ละประเภท เรามาทำความเข้าใจโครงสร้างเส้นผมของคนกันก่อนค่ะ เพราะลักษณะเส้นผมของคนเราที่แตกต่างกันนั้น เกิดจากความแตกต่างของส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในเส้นผมค่ะ
เส้นผมของคนเรานั้นเมื่อตัดขวาง จะแบ่งโครงสร้างตามที่มองเห็นออกเป็น 3 ส่วน
- ชั้นเกล็ดผม (Cuticle)
ส่วนแรกคือส่วนของชั้นเกล็ดผมซึ่งจะอยู่นอกสุด ชั้นเกล็ดผมมีหน้าที่ป้องกันเส้นผมไม่ให้สูญเสียโปรตีนในเส้นผม ทั้งยังช่วยให้เส้นผมดูเงางาม ส่วนประกอบหลักคือโปรตีนที่โปร่งใส ที่เรียกว่าชั้นนี้ว่าเกล็ดผมเพราะโปรตีนนี้มีลักษณะคล้ายกับเกล็ดปลาที่เรียงซ้อน ๆ กันนั่นเองค่ะ
- ชั้นเนื้อผม (Cortex)
ถัดจากชั้นเกล็ดผมคือชั้นเนื้อผมซึ่งเป็นชั้นที่มีปริมาณมากที่สุดจากทุกชั้น โดยมีปริมาณมากถึง 80% ของเส้นผมทั้งหมด ในชั้นนี้มีส่วนประกอบหลักเป็นโปรตีนเส้นใยกับโปรตีนที่อ่อนนุ่ม นอกจากนี้ยังมีน้ำและเม็ดสีด้วย ทำให้ชั้นเนื้อผมเป็นชั้นโครงสร้างที่เป็นตัวกำหนดลักษณะเส้นผมแบบต่าง ๆ เช่น ผมเส้นเล็ก ผมเส้นใหญ่ และสีผม
- ชั้นแกนผม (Medulla)
ชั้นแกนผมนี้จะอยู่ด้านในสุดของเส้นผม และไม่ได้มีในผมทุกเส้น จะพบได้เฉพาะในผมเส้นที่หนามาก ๆ โครงสร้างของชั้นแกนผมจะมีช่องว่างและอากาศเป็นส่วนประกอบหลักค่ะ
ลักษณะของเส้นผม แต่ละประเภท
ลักษณะเส้นผมผู้ชายและผู้หญิงนั้นมีหลากหลายค่ะ ทั้งผมธรรมดา ผมแห้ง ผมมัน แล้วเคยสงสัยกันไหมคะว่าเส้นผมของเรานั้นเป็นผมแบบไหน? วันนี้เราจะพามาสังเกตลักษณะเส้นผมของแต่ละคน สาเหตุการเกิดเส้นผมลักษณะนั้น รวมถึงบอกวิธีการดูแลเส้นผมแต่ละแบบด้วย
1.ลักษณะเส้นผมธรรมดา
ลักษณะเส้นผมแบบธรรมดา คือผมที่มีลักษณะเรียบ ลื่น เงางาม สามารถดูแล หวีจัดแต่งทรงได้ง่าย เส้นผมชุ่มชื้น ไม่แห้งฟู แบบนี้เราเรียกว่าเส้นผมธรรมดาค่ะ ซึ่งเส้นผมธรรมดานี้เป็นผมที่ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาในปริมาณที่พอเหมาะ ทำให้ผมไม่แห้งหรือมันจนเกินไป
คนที่มีลักษณะเส้นผมธรรมดาสามารถดูแลผมได้โดยใช้แชมพูอ่อน ๆ สระผมให้สะอาดอยู่เสมอ เน้นไปที่การรักษาความสะอาด เพราะเส้นผมไม่ได้มีปัญหาอะไร นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการทำลายเส้นผม เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมสีผม ดัดผม การใช้ความร้อนสูงกับเส้นผม รวมไปถึงการสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลตในแสงแดด
2.ลักษณะเส้นผมแห้ง
คนที่มีลักษณะผมแห้ง คือเส้นผมที่มีความหยาบฟู ไม่มีน้ำหนัก ขาดความชุ่มชื้น ผมอาจเปราะขาดหรือแตกปลายได้ง่าย ลักษณะผมเสีย แห้งแตก เกิดได้จากหลายปัจจัย ปัจจัยภายใน เช่น ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาน้อยเกินไป หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอก อย่างการที่เส้นผมถูกทำร้ายจากผลิตภัณฑ์ย้อมสีผม กัดสีผม รวมถึงการที่ผมสูญเสียความชุ่มชื้นเนื่องจากโดนคลอรีน โดนแดด หรือแม้แต่การสระผมด้วยแชมพูที่เป็นด่างมากเกินไปก็ทำให้เกิดผมแห้งได้
ทางแก้ไขที่ดีคือควรหาสาเหตุที่แน่ชัด เพื่อปรับพฤติกรรม และเติมความชุ่มชื้นให้เส้นผมอย่างเหมาะสมค่ะ
3.ลักษณะเส้นผมมัน
ลักษณะเส้นผมมัน สังเกตได้ง่าย ๆ คือผมที่ดูมันเยิ้ม เหนียวเหนอะหนะ ซึ่งผมลักษณะนี้จะมีสิ่งสกปรกเข้ามาติดได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นฝุ่นหรือละอองมลภาวะ ส่งผลให้หนังศีรษะและผิวหน้ามันตามไปด้วย คนที่มีลักษณะเส้นผมมันอาจเกิดจากปัจจัยภายใน เช่น ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมาเยอะเกินไป หรืออาจเกิดจากปัจจัยภายนอก อย่างการใส่น้ำมันผมมากเกินไป หรือความชื้นในอากาศก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของเส้นผมมัน
คนที่มีลักษณะผมมันง่ายควรรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมีสิ่งสกปรกและมลภาวะมาติดที่เส้นผมได้ง่าย เลือกผลิตภัณฑ์ดูแลให้เหมาะกับสภาพเส้นผมมัน ใช้ครีมนวดผมหรือทรีตเมนต์เฉพาะที่ปลายผมเท่านั้น รวมถึงหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันมาก ก็จะช่วยให้ผมมันลดลงได้ค่ะ
4.ลักษณะเส้นผมผสม
ลักษณะเส้นผมแบบผสมคือคนที่โคนผมมัน แต่ปลายผมมีลักษณะแห้ง ซึ่งอาจเกิดจากการที่เดิมมีลักษณะเส้นผมมัน แต่บริเวณปลายผมถูกเคมี หรือความร้อนทำให้สูญเสียความชุ่มชื้นจึงแห้งกว่าบริเวณโคนผม นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการที่เดิมมีลักษณะเส้นผมแห้ง แต่ใช้แชมพูที่มีซิลิโคนจนไขมันเกาะติดที่บริเวณหนังศีรษะ
การดูแลลักษณะเส้นผมผสมควรเริ่มจากการลดการใช้ความร้อนจัดแต่งเส้นผม เมื่อต้องออกไปเจอแดดควรป้องกันโดยการใส่หมวกหรือกางร่มเสมอ นอกจากนี้อาจเลือกใช้ยาสระผมที่ช่วยลดความมันบนหนังศีรษะ จะช่วยควบคุมให้ผมมีสุขภาพดีเสมอกันได้ค่ะ
5.ลักษณะเส้นผมบาง
ลักษณะเส้นผมบางหรือผมเส้นเล็ก เป็นผมที่มีขนาดเล็ก เมื่อสังเกตจะเห็นว่าผมเส้นเล็กทนต่อแรงดึงได้น้อยกว่าคนที่มีผมเส้นใหญ่จึงทำให้ผมขาดหลุดร่วงได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ผมเส้นเล็กมีเม็ดสีเมลานินน้อยสีจึงดูอ่อนกว่าคนที่มีผมเส้นใหญ่
ผมเส้นเล็กมักจะมันง่าย ดูลีบแบน ดูบางกว่าผมเส้นใหญ่ ซึ่งลักษณะของผมเส้นเล็กนั้นเกิดมาจากกรรมพันธุ์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และพบมากในชาวตะวันตกมากกว่าชาวเอเชียอย่างเรา ๆ ค่ะ
คนที่มีผมเส้นเล็กควรดูแลรักษาเส้นผมโดยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แชมพูและครีมนวดที่เหมาะกับสภาพผม เน้นป้องกันการขาดหลุดร่วง เบาสบาย ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ผมดูหนักเพราะจะยิ่งทำให้ผมดูลีบแบน
นอกจากนี้ยังไม่ควรสางผมขณะที่ผมเปียกเพราะจะทำให้ผมขาดง่าย อาจดูแลเพิ่มเติมโดยการทานอาหารบำรุงผมหรือวิตามินที่บำรุงให้ผมแข็งแรงขึ้น นอกจากนี้ควรปกป้องเส้นผมจากฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกด้วยการใส่หมวกหรือรัดเก็บผม เพื่อไม่ให้ผมสัมผัสกับฝุ่นละอองในอากาศมากนัก
6.ลักษณะเส้นผมหนา
คนที่มีลักษณะผมเส้นใหญ่เมื่อสังเกตที่ขนาดเส้นผมจะดูหนาอวบกว่าคนที่มีผมเส้นเล็ก ผมจะมีสีเข้มเนื่องจากมีเม็ดสีเมลานินมาก เส้นผมหนาจะมีรากผมที่แข็งแรง หลุดร่วงได้ยากแต่ก็จะดูกระด้างชี้ฟูและจัดทรงได้ยากกว่าคนที่มีผมเส้นเล็ก นอกจากนี้ผมเส้นใหญ่จะดักจับสิ่งสกปรกในอากาศได้น้อยกว่า มีแกนโปรตีนในผมที่มากกว่า ทำให้ผมแข็งแรง โดยลักษณะเหล่านี้เกิดจากการกำหนดโดยพันธุกรรมเช่นเดียวกับลักษณะเส้นผมบาง
คนที่มีผมเส้นใหญ่ มักมีลักษณะเนื้อผมที่หยาบ กระด้าง และชี้ฟู ควรเลือกใช้อาหารบำรุงผมจำพวกสเปรย์ เซรั่ม หรือครีมสูตรลดการชี้ฟู ถึงแม้ว่าผมเส้นใหญ่จะดักจับสิ่งสกปรกได้น้อยกว่าผมเส้นเล็กแต่ก็ควรรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ในการสระผมน้ำสุดท้ายควรใช้น้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำเย็นเพื่อปิดเกล็ดผม จะช่วยให้ผมเรียบลื่น และสางผมได้ง่ายขึ้น ผมไม่พันกัน
7.ลักษณะเส้นผมหนาปานกลาง
คนที่มีลักษณะเส้นผมหนาปานกลางคือคนที่มีเส้นผมไม่หนาและไม่บางจนเกินไป ทำให้ง่ายต่อการดูแล เนื่องจากไม่ใช่ผมที่ขาดหลุดร่วงได้ง่าย หรือแข็งกระด้างชี้ฟู การดูแลจึงเป็นการรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ใช้ผลิตภัณฑ์การดูแลเส้นผมให้เหมาะกับเส้นผมและหนังศีรษะ บำรุงผมอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้เส้นผมและหนังศีรษะเสียสมดุลความชุ่มชื้น
ปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของเส้นผม
นอกจากกรรมพันธุ์ที่กำหนดลักษณะเส้นผมของแต่ละคนแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ก็ยังส่งผลต่อสุขภาพของเส้นผมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยภายใน หากต้องการที่จะมีผมสุขภาพดี เราก็ควรทราบถึงปัจจัยเหล่านี้ เพื่อที่จะดูแลเส้นผมของเราให้เหมาะสมตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ นั่นเองค่ะ
1.ฮอร์โมน
ฮอร์โมนนั้นเรียกได้ว่าส่งผลต่อทุกส่วนในร่างกายของเรา เส้นผมก็เช่นกัน ฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ผมของเรางอกเร็วขึ้นคือฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ ในขณะที่ฮอร์โมนสเตียรอยด์จะไปขัดขวางการงอกของเส้นผมของเรา ดังนั้นลักษณะเส้นผมของเราจะเป็นอย่างไร ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับฮอร์โมนค่ะ
2.อาหารการกิน
You are what you eat เส้นผมก็เช่นกันค่ะ อาหารการกินของเราย่อมส่งผลต่อสุขภาพเส้นผมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากต้องการดูแลรักษาเส้นผมให้สวยสุขภาพดีตามลักษณะเส้นผมของเรา ควรทานอาหารที่บำรุงเส้นผม เช่น วิตามินบีรวมสามารถหาได้ในยีสต์และโยเกิร์ต หรือโปรตีนที่จะช่วยให้ผมแข็งแรงและเป็นส่วนประกอบหลักของเส้นผม
นอกจากอาหารที่บำรุงผมแล้ว สารอาหารบางชนิดก็อาจทำร้ายเส้นผมได้หากได้รับมากเกินไป เช่น วิตามินเอ ที่จะยับยั้งการเจริญของเซลล์ หากได้รับวิตามินเอมากเกินไป ก็จะทำให้ผมงอกช้าไปจนถึงผมร่วงได้ค่ะ
3.สภาพอากาศ
ถึงแม้ว่าสภาพอากาศและอุณหภูมิจะไม่ได้มีผลต่อการงอกของเส้นผม แต่ก็มีผลต่อลักษณะเส้นผมของเรามาก ผมที่ตากแดดเรื่อย ๆ โดยปราศจากการป้องกัน จะเปราะและแห้งเพราะถูกความร้อนเป็นประจำ นอกจากนี้ในฤดูหนาว ผมของเราอาจจะแห้งและชี้ฟูได้ เนื่องจากน้ำในผมจะระเหยออกไปในอากาศที่มีความชื้นต่ำ
4.สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมส่งผลต่อสุขภาพเส้นผมอย่างแน่นอน หากเส้นผมของเราต้องเผชิญกับมลภาวะในอากาศ แกนกลางของเส้นผมอาจจะถูกทำลายให้ค่อย ๆ แห้งเสีย ทำให้เส้นผมเปราะขาดง่าย และนำไปสู่การหลุดร่วง
นอกจากนี้เส้นผมของเรายังสามารถเปลี่ยนสีได้เมื่อถูกรังสีอัลตราไวโอเลตจากแสงแดดเป็นเวลานาน คนที่ออกแดดเป็นประจำโดยไม่มีการป้องกันเส้นผมจึงอาจมีผมที่ซีดลงเนื่องจากโดนแสงแดด เราจึงควรปกป้องเส้นผมของเราจากแสงแดดและมลภาวะอย่างสม่ำเสมอ อาจใช้ออยหรือผลิตภัณฑ์ปกป้องเส้นผม กางร่ม หรือใส่หมวกทุกครั้งที่ออกไปในที่โล่ง
5.สารเคมี
เส้นผมของเราต้องเผชิญกับสารเคมีจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา สารเคมีหลายชนิดทำให้เกิดการระคายเคือง สารบางอย่างขจัดน้ำมันออกไปจากหนังศีรษะทำให้ผมแห้งและหยาบกระด้างได้ เราจึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนกับเส้นผม ไม่มีสารชำระล้างที่แรงจนเกินไป รวมถึงควรสังเกตลักษณะเส้นผมของเราอย่างสม่ำเสมอ
6.โรคภัยไข้เจ็บ
โรคบางโรคทำให้ผมขาดหลุดร่วง เปราะ เนื่องจากขาดโปรตีน นอกจากนี้อาการติดเชื้อยังอาจทำให้เกิดรังแคที่ทำให้ผมร่วง หากเส้นผมของคุณประสบปัญหาที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ อาจแก้ปัญหาไปตามสภาพเส้นผมในระหว่างที่รักษาโรคดังกล่าวให้หาย เมื่อโรคหายแล้วอาการผมขาดร่วงก็จะดีขึ้นตามลำดับค่ะ
แนะนำวิธีดูแลผม สำหรับลักษณะเส้นผมทุกประเภท
หลาย ๆ คนอาจจะรู้อยู่แล้วว่า ถ้าเราอยากมีเส้นผมสุขภาพดีเราก็ต้องหมั่นบำรุงและดูแลเส้นผมของเราอย่างสม่ำเสมอ แต่คุณแน่ใจใช่ไหมว่า วิธีการบำรุงดูแลรักษาเส้นผมที่คุณกำลังทำอยู่เป็นวิธีที่ถูกต้อง? วันนี้เรามีวิธีดูแลเส้นผมสำหรับลักษณะเส้นผมทุกประเภทมาฝากกันค่ะ
1.สระผมอย่างพอดีด้วยวิธีที่ถูกต้อง
การสระผมเป็นวิธีการรักษาความสะอาดเบื้องต้นที่ทุก ๆ คนก็คงจะเคยทำ แต่แล้วสระผมทุกวันดีไหม?
หากเราสระผมด้วยความถี่ที่บ่อยเกินไป ถึงแม้ว่าผมของเราจะสะอาด แต่เส้นผมและหนังศีรษะของเราจะอ่อนแอ ทำให้ผมขาดหลุดร่วงได้ง่าย
ความถี่ในการสระผมของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับลักษณะเส้นผมและหนังศีรษะ วิธีสระผมที่ถูกต้อง โดยเฉลี่ยแล้วควรสระผมสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ในการสระผมไม่ควรใช้น้ำที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป ก่อนสระผมควรหวีผมเพื่อให้ผมไม่พันกันขณะที่สระ และช่วยให้สิ่งสกปรกหลุดออกจากเส้นผมได้ง่ายขึ้น
ควรล้างเส้นผมด้วยน้ำเปล่าก่อนที่จะลงแชมพู เพื่อล้างสิ่งสกปรกในขั้นต้น นอกจากนี้ยังไม่ควรเทแชมพูลงบนหนังศีรษะโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตัน ควรเทแชมพูลงบนฝ่ามือแล้วค่อยชโลมให้ทั่วศีรษะ อย่าเกาแรงเพราะอาจเกิดแผล ให้ใช้เพียงปลายนิ้วมือนวด ใช้ครีมนวดทุกครั้งหลังสระผม และเมื่อสระผมเรียบร้อยแล้วให้ใช้ผ้าเช็ดผมเช็ดผมให้แห้งหมาด
2.หลีกเลี่ยงการใช้แชมพูแห้งแทนการสระผม
ในปัจจุบันหลาย ๆ คนหันมาใช้ dry shampoo แทนการสระผมแบบปกติ เพราะทั้งรวดเร็ว และไม่ต้องเสียเวลาเป่าผม แต่ทราบไหมคะว่าการใช้ dry shampoo เป็นการทำให้น้ำมันกับสิ่งสกปรกบนผมจับตัวกันเป็นก้อน เราอาจรู้สึกว่าผมไม่มัน สะอาด แต่แท้จริงแล้วสิ่งสกปรกต่าง ๆ ยังไม่ไปไหน จึงควรใช้ dry shampoo เฉพาะช่วงเวลาที่จำเป็นเท่านั้น
3.บำรุงด้วยครีมนวดหรือทรีตเมนต์เป็นประจำ
หลังจากการสระผมจะต้องบำรุงผมด้วยครีมนวดหรือทรีตเมนต์เป็นประจำ ตามสูตรที่ตรงกับลักษณะเส้นผมของแต่ละคน ครีมนวดและทรีตเมนต์จะช่วยฟื้นฟูผมที่ถูกทำร้ายจนแห้งเสีย ใช้ทรีตเมนต์หรือครีมนวดผมชโลมให้ทั่วศีรษะ เน้นที่ปลายผมแล้วหมักทิ้งไว้ 2-3 นาที ระหว่างนั้นให้นวดศีรษะเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด วิธีนี้จะช่วยให้ผมนุ่มสลวย ไม่แห้งเสีย
4.ไม่นอนหลับในขณะที่ผมเปียก
ไม่ควรนอนหลับไปทั้ง ๆ ที่ผมยังเปียก เพราะความชื้นที่ตกค้างอยู่บนหนังศีรษะอาจทำให้เกิดเชื้อราและการอักเสบ นำไปสู่ปัญหาผมร่วงและรังแคได้ ควรเป่าผมให้แห้งสนิทก่อนนอนทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพผม
5.เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพเส้นผม
เลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพเส้นผมของเรา เช่น คนผมเส้นเล็กเลือกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยไม่ให้ผมขาดหลุดร่วงและไม่มีส่วนประกอบที่ทำให้ผมดูหนักเพราะจะทำให้ผมยิ่งดูลีบแบน
6.หลีกเลี่ยงการใช้ความร้อนจัดแต่งทรงผม
การใช้ความร้อนจัดแต่งทรงผมจะไปทำลายเคราตินซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเส้นผมทำให้ผมแห้งเสียและชี้ฟู
7.ลดการใช้สารเคมีกับเส้นผม
สารเคมีจะทำลายโครงสร้างเคราตินในเส้นผม ดังนั้นการดัดผม ยืด กัดสี ล้วนทำให้ผมอ่อนแอและสูญเสียความชุ่มชื้น จนลักษณะเส้นผมของคุณแห้ง แตกปลาย หากต้องใช้สารเคมีกับเส้นผมควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยบำรุงผมโดยเฉพาะ เพื่อให้ผมกลับมามีสุขภาพดีอีกครั้ง รวมทั้งต้องทำทรีตเมนต์และหมักผมเพื่อเติมความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ
8.หวีผมให้ถูกวิธี
ไม่ควรหวีผมแรงเกินไป และไม่ควรหวีในขณะที่ผมเปียก เพราะเส้นผมจะอ่อนแอขาดง่าย ควรอาจเลือกใช้หวีที่มีปุ่มสำหรับนวดหนังศีรษะ ที่จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต นอกจากนี้ยังควรดูแลรักษาความสะอาดของหวีเป็นประจำเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียที่จะทำให้เส้นผมอ่อนแอ
9.หมั่นเล็มปลายผมเป็นประจำ
การเล็มปลายผมเป็นประจำทุก 3-4 เดือน ครั้งละ 1-2 นิ้ว จะช่วยตัดปลายผมที่แห้งเสียขาดความชุ่มชื้นออกไป ให้ผมดูสวย มีน้ำหนัก เงางาม ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาผมแห้งเสียแตกปลายได้ด้วย
10.ทานอาหารบำรุงเส้นผม
การทานอาหารบำรุงเส้นผมเป็นการบำรุงจากภายใน สารอาหารที่จำเป็นต่อเส้นผมได้แก่ โปรตีน ไบโอติน ธาตุเหล็ก สังกะสี และวิตามินต่างๆ ในขณะเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงควบคู่กันไปด้วย
11.ปกป้องเส้นผมเมื่อลงสระว่ายน้ำ
ควรใส่หมวกคลุมผมทุกครั้งที่ว่ายน้ำเพื่อปกป้องเส้นผมจากคลอรีน เพราะคลอรีนสามารถทำลายโปรตีนในเส้นผมได้ นอกจากนี้ การว่ายน้ำกลางแจ้งยังต้องเผชิญกับแสงแดดอีกด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำกลางแจ้งในตอนที่แดดแรง อาจจะใช้ผลิตภัณฑ์เคลือบเส้นผมเพื่อปกป้อง รวมทั้งทำทรีตเมนต์เป็นประจำเพื่อบำรุงซ่อมแซมผม
12.ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง
คนที่มีปัญหาเส้นผม ลักษณะเส้นผมไม่ดีแล้วยังแก้ไม่ตก สามารถเข้ามารับคำปรึกษาจากคุณหมอเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในด้านของเส้นผมเป็นอย่างดีได้นะคะ เพื่อหาวิธีการรักษาและการแก้ปัญหาเส้นผมที่ตรงจุด
Dr.Tarinee Hair Clinic เป็นคลินิกเพื่อแก้ปัญหาเส้นผม ปลูกผมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเครื่องมือที่มีความทันสมัย ร่วมกับความเชี่ยวชาญของคุณหมอที่อยากช่วยแก้ปัญหาให้กับคนไข้ เพื่อได้กลับมามีเส้นผมและหนังศีรษะที่สุขภาพดี มีทั้งบริการให้คำปรึกษาปัญหาเส้นผม หนังศีรษะ การปลูกผม ปลูกคิ้ว ฉีด PRP ผม เลเซอร์ LLLT เรียกได้ว่าครอบคลุมแทบทุกปัญหาเส้นผม ใครที่กำลังลังเล แนะนำว่าให้เข้าไปปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญได้เลย
ลักษณะเส้นผมแบบไหน ควรปรึกษาแพทย์
หลังจากที่ได้รู้จักลักษณะเส้นผมแบบต่าง ๆ กันไปแล้ว แล้วลักษณะเส้นผมแบบไหนที่ควรปรึกษาแพทย์? ถ้าหากคุณกำลังเผชิญกับปัญหาเส้นผมและหนังศีรษะเหล่านี้ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ตรงจุดค่ะ
- ผมเปราะบาง ขาดง่าย – การที่คนเรามีผมเปราะบางและขาดง่าย อาจจะเกิดจากโรค หรือการขาดสารอาหาร แต่ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เส้นผมสูญเสียโปรตีน นำไปสู่การที่ผมค่อย ๆ เปราะ สีผมค่อย ๆ จางลง
- ผมแห้งเสียชี้ฟู – คนที่มีผมแห้งเสีย ชี้ฟู แตกปลาย มีผมร่วง อาจจะเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อย่างไรก็ตาม หากบำรุงดูแลเบื้องต้นด้วยเซรั่มและทรีตเมนต์แล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำจากแพทย์
- ผมบางลง – อาการผมบางอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมของเราที่ทำร้ายเส้นผม รวมไปถึงอายุที่มากขึ้นทำให้ผมขาดหลุดร่วงไปตามวัย
ถามว่าโดยปกติแล้วผมร่วงวันละกี่เส้น ผมคนเราร่วงวันละ 150-200 เส้น แต่ถ้ามากกว่านั้น แน่นอนว่าคุณกำลังเผชิญหน้ากับอาการผมร่วงค่ะ อาจเกิดจากโรคต่าง ๆ พันธุกรรม หรือจากอายุที่มากขึ้นก็ได้ ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง หาวิธีแก้ผมร่วงเพื่อแก้ไขให้ผมกลับมาหนาเหมือนเดิม - ผมยาวช้า – ผมยาวช้าอาจเกิดขึ้นได้จากการที่ร่างกายของเราได้รับสารอาหารที่จำเป็นต้องการเจริญเติบโตของเส้นผมไม่เพียงพอ แก้ไขได้โดยการเพิ่มการบำรุง ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อเส้นผม
- ผมไม่มีวอลลุ่ม – บางครั้งการที่ผมร่วงและบางลงก็ทำให้ผมดูลีบแบน ไม่มีวอลลุ่ม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่อาการผมร่วงผมบางจะยิ่งรุนแรงและนำไปสู่อาการศีรษะล้าน
สรุปลักษณะเส้นผมและการดูแลเส้นผมที่ถูกต้อง
การดูแลลักษณะเส้นผมแต่ละแบบนั้นมีความแตกต่างกันค่ะ แต่ละคนควรสังเกตลักษณะเส้นผมของตนเองดูว่าเป็นแบบไหน ผมเส้นบาง ผมเส้นหนา ผมแห้ง หรือผมมันไหม ถ้าเป็นก็ควรเลือกการบำรุงที่เหมาะกับลักษณะเส้นผมของตนเอง
โดยพื้นฐานแล้ว ลักษณะเส้นผมทุกแบบควรดูแลโดยการรักษาความสะอาด รวมถึงใช้ครีมนวดและทรีตเมนต์อยู่เสมอเพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ให้ผมนุ่มสลวย ไม่แห้งเสีย รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะทำให้ผมเสีย ก็จะทำให้ผมสุขภาพดีขึ้นค่ะ ใครสนใจปรึกษาหมอ สามารถติดต่อได้ตามช่องทางนี้เลยค่ะ
- Website : Dr.Tarinee Hair Clinic
- Line : @drtarinee
- Facebook : Dr.Tarinee Hair Clinic ปลูกผม รักษา ผมร่วง ผมบาง
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
Rees, M. (2021, July 2). What to know about different hair types and how to care for them. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/hair-types
Sabhnani, D. V. (2019, November 18). Do you have an oily scalp and dry hair? Here’s your guide to keeping it healthy. Vogue. https://www.vogue.in/beauty/content/hair-care-tips-for-combination-hair-oily-scalp-dry-frizzy-hair-remedies
Vallie, S. (2022, November 7). Why Is My Hair So Oily? How to Manage Oily Hair. Radiance by WebMD. https://www.webmd.com/beauty/why-is-my-hair-so-oily-how-to-manage-oily-hair
WebMD Editorial Contributors. (2022, September 11). Dry Hair: Symptoms, Causes, and Treatments. Radiance by WebMD. https://www.webmd.com/beauty/dry-hair-causes