การจัดแต่งทรงผมถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเสริมความมั่นใจในรูปลักษณ์ภายนอก แต่หลายคนที่มีผมเส้นเล็กอาจรู้สึกว่าดูผมลีบแบน ไม่มีน้ำหนัก จัดแต่งแล้วผมไม่เป็นทรง รวมถึงการมีผมเส้นเล็กอาจทำให้เวลามองแล้วดูผมบาง เห็นหนังศีรษะได้ง่าย ไม่เหมือนกับผมเส้นใหญ่
ในบทความนี้ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผมเส้นเล็ก ทั้งสาเหตุของการเกิดผมเส้นเล็ก ข้อแตกต่างระหว่างผมเส้นเล็กและผมเส้นใหญ่ รวมถึงข้อควรระวังต่างๆ เพื่อที่จะสามารถดูแลผมได้อย่างถูกวิธี เสริมสร้างความมั่นใจให้เพิ่มมากขึ้นค่ะ
ผมเส้นเล็กเป็นอย่างไร?
หลายคนอาจสงสัยว่ามีวิธีอย่างไรที่จะสังเกตว่าผมตนเองเป็นผมเส้นเล็กหรือไม่ โดยผมเส้นเล็กนั้นอาจสังเกตได้จากข้อต่างๆ ดังต่อไปนี้
- สีผมไม่เข้มมาก เพราะเม็ดสี (Melanin) น้อย
- ผมมีน้ำหนักเบา
- เส้นผมไม่แข็งกระด้าง
- ผมดูบาง เห็นหนังศีรษะได้ง่าย
- ทนต่อแรงดึงได้น้อย
ผมเส้นเล็กเกิดจากอะไร
โดยปกติแล้ว ผมเส้นเล็กมักมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม ซึ่งคนเอเชียมักจะมีผมเส้นใหญ่ แข็งกระด้าง จัดแต่งทรงได้ยาก ส่วนชาวตะวันตกจะมีผมเส้นเล็ก ดูละเอียด ผมสีอ่อนเนื่องจากเมลานินน้อย เป็นต้นค่ะ
หรืออีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ผมเส้นเล็กก็คือฮอร์โมน DHT หรือ ดีไฮโดรเทสโทสเทอโรน (Dihydrotestosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย
โดยฮอร์โมนตัวนี้จะเข้าไปจับกับ Androgen Receptor บริเวณรากผม ทำให้วัฏจักรการเจริญของเส้นผมสั้นลง รากผมจะไม่สามารถสร้างผมยาวเท่าเดิมและผมเส้นเล็กลง ผมร่วงได้ง่าย
ผมเส้นเล็กต่างจากผมเส้นใหญ่อย่างไร
นอกจากเรื่องขนาดของเส้นผมแล้ว ผมเส้นเล็กและผมเส้นใหญ่ยังมีความต่างกันดังต่อไปนี้
- สัมผัสของเส้นผม ผมเส้นเล็กจะละเอียด อ่อนนุ่ม คล้ายเส้นไหม แต่ผมเส้นใหญ่จะให้ความรู้สึกแข็งกระด้าง เนื้อผมหยาบ และมีความหนา
- สีผม สีผมคนผมบาง เส้นเล็กจะอ่อนกว่าผมเส้นใหญ่เนื่องจากมีเมลานินในเส้นผมน้อย จึงทำให้มีสีผมที่ไม่ดำสนิท
- วิธีการดูแลเส้นผม เนื่องจากผมเส้นเล็กนั้นมีโอกาสที่สิ่งสกปรกและมลภาวะต่างๆ จะเกาะได้มากกว่าผมเส้นใหญ่ ดังนั้นจึงต้องดูแลและระมัดระวังกว่าคนที่ผมเส้นใหญ่
ข้อดีและข้อจำกัดของการมีผมเส้นเล็ก
ข้อดีของผมเส้นเล็ก
ข้อดีของผู้ที่มีผมเส้นเล็กคือเส้นผมจะไม่ค่อยกระจายตัว ทำให้สามารถจัดแต่งทรงผมได้ง่าย เส้นผมมีความอ่อนนุ่ม ไม่ชี้ฟู รวมถึงการทำความสะอาดก็ง่ายดาย หลังสระผมแล้วแห้งง่าย ทำให้ใช้เวลาในการเป่าผมน้อย ผมไม่ค่อยแห้งเสียจากการโดนความร้อนของไดร์เป่าผม
ข้อจำกัดของผมเส้นเล็ก
ข้อจำกัดของผู้ที่มีผมเส้นเล็กคือผมลีบแบนและมันได้ง่าย บางทีจัดแต่งทรงผมไม่เป็นทรง เพราะผมเส้นเล็ก บาง ไม่มีน้ำหนัก รวมถึงมลภาวะและฝุ่นจะสามารถเกาะบนผมเส้นเล็กได้ง่าย ฉะนั้นจึงต้องดูแลความสะอาดมากกว่าผมเส้นใหญ่ค่ะ
อ่านข้อมูลของเส้นผมแบบอื่น ๆ ได้ที่ ลักษณะเส้นผม
วิธีบำรุงดูแลผมเส้นเล็กให้แข็งแรง มีน้ำหนัก
1.เลือกใช้แชมพูที่เหมาะกับเส้นผม
การเลือกใช้แชมพูถือว่าเป็นพื้นฐานของการดูแลเส้นผม ซึ่งหากมีผมเส้นเล็กก็ควรเลือกแชมพูที่มีสูตรเหมาะสำหรับผมเส้นเล็ก ไม่มีน้ำหนัก เช่น ปกป้องเส้นผมและหนังศีรษะจากมลภาวะ ลดความมัน หรือป้องกันการขาดหลุดร่วงของเส้นผม เป็นต้น หรืออาจใช้แชมพูลดผมร่วงเพื่อช่วยปัญหาผมบางร่วมด้วย
2.เป่าผมแบบยกโคนผมให้สูง
การเป่าผมแบบยกโคนสูงสามารถช่วยทำให้ผมดูหนา เนื่องจากเมื่อโคนผมถูกยกขึ้น ผมจะดูพอง หนา ไม่ลีบแบน ช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่ผมแห้งฟู ไม่มีน้ำหนักได้ค่ะ
3.จัดแต่งทรงผมให้มีวอลลุ่ม
สำหรับที่จัดแต่งทรงผมแล้วผมไม่เป็นทรง อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้ผมดูเรียบร้อย ไม่ชี้ฟูคือการจัดแต่งทรงผมให้มีวอลลุ่มหรือดัดลอน ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้ผมดูมีน้ำหนัก ไม่บาง เป็นทรงสวย แม้จะมีผมเส้นเล็กก็สร้างวอลลุ่มให้ดูหนาได้
4.รับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผม
นอกเหนือจากการแก้ปัญหาที่ภายนอก การเสริมสร้างความแข็งแรงจากภายในก็สำคัญเช่นกัน หากรับประทานอาหารที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มความแข็งแรงให้กับรากผมหรือได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วนก็จะสามารถช่วยลดปัญหาผมบางจากการหลุดร่วงของผมเส้นเล็กได้
5.นวดศีรษะกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด
การนวดศีรษะเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้เลือดสามารถไปเลี้ยงบริเวณมากผมได้ดีขึ้น เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเส้นผม ลดการหลุดร่วงของผมบางเส้นเล็ก ร่วมกับช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย แก้เครียด
6.เลือกทรงผมให้เหมาะกับสภาพเส้นผม
ผมไม่มีน้ำหนักทำไงดี? การจัดแต่งและเลือกทรงผมให้เหมาะกับสภาพเส้นผมของตนเองก็เป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับภาพลักษณ์อย่างหนึ่ง คนที่มีผมเส้นเล็กนั้นจะดูเหมือนผมลีบแบน จึงทำให้ควรทำผมดัดลอน สร้างวอลลุ่มให้ผม ดีกว่าการรัดผมหรือทำผมตรงเพราะจะทำให้ผมดูดลีบกว่าเดิม
7.หวีผมด้วยแปรงเซรามิก
หากใช้แปรงเซรามิกช่วยระหว่างไดร์ผมให้แห้ง แปรงจะทำการเก็บความร้อนจากไดร์ ช่วยให้จัดแต่งทรงได้ตามต้องการ สร้างวอลลุ่มให้ผมเส้นเล็กดูหนาขึ้น รวมถึงผมแห้งเร็วและไม่เสียจากการใช้ความร้อนค่ะ
ข้อควรระวังสำหรับคนผมเส้นเล็ก
1.ไม่สระผมถี่จนเกินไป
แม้ว่าผู้ที่ผมเส้นเล็กจะทำให้หนังศีรษะมันเร็วกว่าผมเส้นใหญ่ รวมถึงมีฝุ่นละอองและมลภาวะเกาะบนเส้นผมง่าย แต่การสระผมเพื่อทำความสะอาดบ่อยๆ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับเส้นผม เนื่องจากผมที่เปียกนั้นมีความเปราะบาง อาจหลุดร่วงได้ง่าย ทำให้ผมยิ่งบางลงค่ะ
2.ไม่มัดผมแน่นจนเกินไป
การรัดผมจนแน่นเกินไปนั้นจะเป็นการออกแรงดึงรากผมมากจนเกินไป ผู้ที่มีผมเส้นเล็กนั้นรากผมจะตื้นกว่าผู้ที่มีเส้นใหญ่ อาจทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมจากการรัดผมแน่น รวมถึงหากมัดผมแน่นก็จะทำให้หนังศีรษะไม่ได้ระบายอากาศจนเกิดเป็นรังแคอีกด้วย
3.ไม่หวีผมแรงจนเกินไป
อีกสาเหตุของผมไม่มีน้ำหนัก ร่วง บาง คือการที่หวีผมแรงหรือเร็วจนเกินไป เนื่องจากเป็นการออกแรงที่อาจทำให้เส้นผมหรือรากผมเสียหาย ผู้ที่มีรากผมตื้นอย่างผมเส้นเล็กจึงอาจเกิดการผมร่วงได้มาก ควรระมัดระวังในการออกแรงหวีผม
4.หลีกเลี่ยงการเกาหนังศีรษะแรง ๆ
แม้ว่าการเกาหรือสางผมจะมีส่วนช่วยในการขจัดสิ่งสกปรกที่อยู่บนเส้นผม แต่หากเกาหนังศีรษะแรงๆ ก็จะเป็นการกระทบกับรากผม โดยเฉพาะผมเส้นเล็กที่เปราะบางก็สามารถทำให้ผมร่วงได้
5.ความเครียดสะสม
ถ้าหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกทั้งหมดแล้วแต่ผมยังหลุดร่วงอยู่ ความเครียดสะสมอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุเบื้องหลังอาการผมร่วงก็เป็นได้ เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลต่อฮอร์โมน ทำให้ผมแห้ง ไม่มีน้ำหนัก ร่วง ฉะนั้นจึงควรหาทางออก ผ่อนคลายร่างกายและจิตใจเพื่อบรรเทาความเครียดของร่างกายค่ะ
สรุปผมเส้นเล็ก
ผมเส้นเล็กนั้นมักเกิดจากกรรมพันธุ์หรือฮอร์โมน DHT ซึ่งผมเส้นเล็กเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งผมเส้นเล็กมีความอ่อนนุ่มและไม่กระจายตัวทำให้จัดแต่งทรงผมได้ง่าย แต่ด้วยความที่มีทำหนักเบาจึงอาจทำให้ไม่ค่อยอยู่ทรง หากเราดูแลเส้นผมอย่างถูกวิธี ก็จะสามารถทำให้ผมเส้นเล็กมีสุขภาพแข็งแรงและดูหนา ไม่ลีบแบนได้ค่ะ
หากสนใจปรึกษาปัญหาเส้นผม ปลูกผม หรือต้องการรักษาปัญหาเกี่ยวกับหนังศีรษะ สามารถรับคำปรึกษากับแพทย์หญิงธาริณี ก่อวิริยกมล หรือหมอแก้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเส้นผมจาก Dr.Tarinee Hair Clinic ผ่านช่องทางติดต่อด้านล่างค่ะ
Website : คลินิกปลูกผม Dr.Tarinee Hair Clinic
Line :@drtarinee
Facebook :Dr.Tarinee Hair Clinic ปลูกผม รักษา ผมร่วง ผมบาง
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
Cherney, K. (2023, February 23). 12 Ways to Stop Hair Thinning. Healthline. https://www.healthline.com/health/thinning-hair
Redfearn, S. (2013, December 9). Thinning Hair: Can Medications Help? WebMD. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/hair-loss/features/thinning-hair-medications