หากรู้สึกแสบคัน ร่วมกับอาการหนังศีรษะลอกเป็นแผ่น คล้ายรังแค หรือหนังศีรษะเป็นแผล อาจสงสัยได้ว่าเป็นอาการของ “หนังศีรษะอักเสบ” ค่ะ ซึ่งอาการเหล่านั้นอาจทำให้ความมั่นใจลดลง รวมถึงส่งผลในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยโรคหนังศีรษะอาจทำให้ผมร่วง หนังศีรษะลอก เป็นขุยได้ค่ะ
ในบทความนี้ได้รวบรวมเกี่ยวกับอาการหนังศีรษะอักเสบ อาทิ อาการเบื้องต้น สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ และวิธีรักษาหนังศีรษะอักเสบ เป็นต้น เพื่อที่จะสามารถช่วยผู้ที่กังวลว่าตนเข้าข่ายเป็นหนังศีรษะอักเสบหรือไม่ และเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการได้อย่างถูกต้องต่อไปค่ะ
หนังศีรษะอักเสบคืออะไร?
โรคหนังศีรษะอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) ถือเป็นโรคหนังศีรษะที่เกิดจากการอักเสบของผิวหนังบริเวณศีรษะ หรืออาจเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันใต้ผิวหนังบริเวณศีรษะ ซึ่งหนังศีรษะอักเสบเป็นอาการเรื้อรัง หากมีสิ่งกระตุ้นก็สามารถเกิดอาการขึ้นมาได้อีก ซึ่งถือว่าเป็นอาการที่กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันค่ะ
สาเหตุของหนังศีรษะอักเสบ
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดโรคหนังศีรษะอักเสบนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในปัจจุบันยังไม่สามารถหาสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่ปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นและอาจทำให้เกิดอาการหนังศีรษะอักเสบได้ มีดังนี้
- อากาศและมลภาวะ เช่น อากาศแห้งและเย็นอาจทำให้เกิดอาการหนังศีรษะมัน หรือความร้อน แดด รวมถึงฝุ่น pm 2.5 ก็เป็นอีกต้นเหตุที่กระตุ้นอาการหนังศีรษะอักเสบ
- การติดเชื้อ หากเป็นเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) เชื้อราตัวนี้อาจทำให้ปริมาณน้ำบนมันหนังศีรษะผิดปกติได้ค่ะ
- ฮอร์โมน เมื่อฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้การผลิตไขมันจากต่อมไขมันแปรปรวนได้ ส่งผลให้มีโอกาสเกิดอาการหนังศีรษะอักเสบ
- อาหาร โดยอาหารบางชนิดมีผลให้เกิดการผลิตไขมันมากกว่าปกติ
- การใช้สารเคมีบนศีรษะ เช่น การย้อมผม หรือ การยืดผม อาจทำให้หนังศีรษะแห้งกว่าปกติ กระตุ้นให้เกิดอาการหนังศีรษะอักเสบได้ค่ะ
- มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน ผู้ที่เป็นโรค เช่น โรคมะเร็ง, โรคเอดส์ (AIDS) เป็นต้น หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้อาการกำเริบได้
อาการของหนังศีรษะอักเสบ
หากเป็นโรคหนังศีรษะอักเสบ อาจมีอาการที่สังเกตได้เบื้องต้นดังต่อไปนี้
- คันหนังศีรษะ เป็นแผล มีผื่นแดง เกิดความระคายเคือง
- หนังศีรษะมัน
- หนังศีรษะลอกเป็นแผ่น เป็นขุย
- เกิดรังแค และหากอักเสบมากอาจมีรังแคสีเหลืองจับตัวเป็นก้อนจากความมันบนหนังศีรษะ
- มีปื้นสีแดง ขอบเขตไม่ชัดเจน
- มีอาการผมร่วงเป็นหย่อม หรือผมร่วงมากจนผมบาง
- หากมีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาจจะเกิดเป็นตุ่มหนอง หรือมีน้ำเหลืองซึมได้
โรคหนังศีรษะอักเสบอันตรายไหม?
โรคหนังศีรษะอักเสบนั้นไม่ได้มีความอันตรายถึงชีวิต เพียงแต่จะทำให้ความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันลดน้อยลงจากอาการต่างๆ เช่น รังแค หัวเป็นแผล หรือผมร่วง เป็นต้นค่ะ บางคนอาจสงสัยว่าเป็นโรคหนังศีรษะอักเสบแล้วอาจส่งผลให้หัวล้านหรือส่งผลต่อรากผมหรือไม่? หากกังวลว่าจะมีผลเสียมากต่อร่างกายก็สามารถพบแพทย์เพื่อเข้ารับคำปรึกษาและหาวิธีรักษาหนังศีรษะอักเสบได้ค่ะ
วิธีรักษาหนังศีรษะอักเสบ
1.ใช้ยาสระผมที่ช่วยลดการอักเสบ
ยาสระผมหรือแชมพูที่สามารถช่วยลดอาการอักเสบของหนังศีรษะได้มีอยู่หลายสูตรด้วยกัน เช่น คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) ที่ช่วยในการกำจัดเชื้อรามาลาสซีเซีย, ซีลีเนียมซัลไฟด์ (Selenium Sulfide) ที่ช่วยลดเชื้อรามาลาสซีเซียและชะลอการผลัดเซลล์ของผิวหนัง รวมถึงน้ำมันจากใบของต้นทีทรี (Tea Tree Oil) ที่ช่วยลดความมันบนหนังศีรษะ เป็นต้น ทั้งนี้ควรเลือกแชมพูที่เหมาะสมกับอาการและสภาพหนังศีรษะของตนเองค่ะ
2.ใช้ยาสเตียรอยด์
การใช้ยาสเตียรอยด์จะสามารถช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ โดยแพทย์จะใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดใช้ภายนอก (Topical Steroids) เพื่อกดภูมิของร่างกาย ลดอาการอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุของอาการคันหนังศีรษะ เป็นแผล ทั้งนี้ การใช้ยาควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
3.ใช้ยาต้านเชื้อรา
นอกจากจะใช้สเตียรอยด์เพื่อกดภูมิแล้ว การใช้ยาต้านเชื้อราบนหนังศีรษะ เพื่อลดจำนวนเชื้อราก็เป็นหนึ่งในการขจัดสาเหตุของการเกิดโรคหนังศีรษะอักเสบ โดยแพทย์อาจจ่ายเป็นยาทา เช่น Clotrimazole cream และ Ketoconazole cream หรือยารับประทาน เช่น Griseofulvin, Terbinafine, Itraconazole และ Fluconazole เป็นต้นค่ะ
4.รักษาด้วยการฉายแสง
วิธีรักษาหนังศีรษะอักเสบด้วยการฉายแสงนั้นคือการใช้แสงอัตราไวโอเลต A (UVA), แสงอัตราไวโอเลต B ช่วงคลื่นแคบ (Narrowband UVB) หรือเอกไซเมอร์ เลเซอร์ (Excimer laser) เพื่อรักษาอาการ แต่วิธีนี้มักใช้เมื่อไม่สามารถรักษาให้หายด้วยการรับประทานยาหรือทายา โดยต้องทำการรักษาด้วยการฉายแสงอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย
5.ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เนื่องจากสาเหตุของการเกิดโรคหนังศีรษะอักเสบยังมีสาเหตุที่ไม่ชัดเจน ปัจจัยที่อาจทำให้เกิดอาการของแต่ละบุคคลแตกต่างกันออกไป การรักษาจึงจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากผู้ที่เกิดอาการและไม่มั่นใจว่าตนเองควรได้รับการรักษาแบบใด สามารถปรึกษาได้ที่นี่ : @drtarinee
วิธีป้องกันโรคหนังศีรษะอักเสบ
1. ดูแลหนังศีรษะให้สะอาด
การดูแลหนังศีรษะและเส้นผมให้สะอาดสามารถช่วยลดการติดเชื้อจากสาเหตุต่างๆ เช่น ความมันของเส้นผม และ เชื้อรา เป็นต้น โดยผู้ที่มีอาการหนังศีรษะอักเสบควรใช้แชมพูสูตรอ่อนโยนหรือแชมพูที่ช่วยลดอาการอักเสบตามที่แพทย์แนะนำค่ะ
2.สระผมด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ
หากสระผมด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิร้อนหรือเย็นจนเกิดไปก็จะส่งผลต่อการผลิตไขมันจากต่อมไขมันบนหนังศีรษะ ทำให้อาการอักเสบกำเริบได้
3.พักผ่อนให้เพียงพอ
หากนอนหลับได้ 8 ชั่วโมงหรือพักผ่อนอย่างเพียงพอ ร่างกายจะสามารถฟื้นฟูและแข็งแรง มีส่วนช่วยในการเยียวยาอาการอักเสบให้ทุเลาลงค่ะ
4.หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง
ผู้ที่มีแนวโน้มในการเป็นโรคหนังศีรษะอักเสบควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดอาการ เช่น ควบคุมอาหารที่สามารถสร้างความมันส่วนเกินบนหนังศีรษะ หรือ ผ่อนคลายความเครียดเนื่องจากส่งผลต่อฮอร์โมน เป็นต้น
5.ลดเชื้อราด้วยการออกแดด
การออกแดดจะได้รับรังสี UVB ที่จะช่วยในการสร้าง Vitamin D เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับภูมิคุ้มกันของร่างกายจากแคธีลิซิดิน (Cathelicidin) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดการอักเสบของผิวหนังได้ค่ะ
6.หลีกเลี่ยงการใช้เคมีกับเส้นผมและหนังศีรษะบ่อยๆ
การใช้สารเคมี เช่น การย้อมผม การกัดสีผม หรือการยืดผม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หนังศีรษะและเส้นผมถูกทำร้าย มีโอกาสอย่างมากที่จะทำให้เป็นโรคหนังศีรษะอักเสบ ผมแห้งเสีย หรือหัวเป็นแผลค่ะ
7.ลดการดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่
การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่จะทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอลง หากรวมกับปัจจัยอื่นๆ อาจมีโอกาสทำให้เกิดโรคหนังศีรษะอักเสบ
สรุป
อาการหนังศีรษะอักเสบคือโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นบริเวณศีรษะ การแพทย์ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนได้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการมาจากปัจจัยใด ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเป็นเชื้อรา ฮอร์โมนแปรปรวน หรือ การรับประทานอาหารที่สร้างไขมันส่วนเกิน เป็นต้น
หากสนใจปรึกษาเกี่ยวกับโรคหนังศีรษะอักเสบ หรือปัญหาเส้นผมอื่นๆ เพิ่มเติม สามารถรับคำปรึกษากับแพทย์หญิงธาริณี ก่อวิริยกมล หรือหมอแก้ว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคเส้นผมจาก Dr.Tarinee Hair Clinic ผ่านช่องทางติดต่อด้านล่างตามนี้ค่ะ
Website : Dr.Tarinee Hair Clinic
Line : @drtarinee
Facebook : Dr.Tarinee Hair Clinic ปลูกผม รักษา ผมร่วง ผมบาง
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
Oakley, A. (2003). Tinea capitis (G. Mitchell, Ed.). https://dermnetnz.org/topics/tinea-capitis
Ringworm (scalp) – Symptoms and causes – Mayo Clinic. (2022b, January 22). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ringworm-scalp/symptoms-causes/syc-20354918