Telogen Effluvium หรือโรคผมร่วงทั้งหัว

ปัญหาผมร่วงเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะผมร่วงระยะทีโลเจน หรือผมร่วงทั่วทั้งศีรษะที่เกิดหลังจากเจ็บป่วยไม่สบาย หรือหลังทานยาบางอย่าง แล้วเกิดผมร่วงมากกว่าปกติ นอกจากเป็นปัญหาที่พบบ่อย ยังเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดความกังวลใจ หรือความไม่มั่นใจ วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับภาวะผมร่วงทีโลเจนกันมากขึ้น ว่าเกิดจากอะไร คืออะไร และการรักษาเป็นอย่างไร



telogen effluvium คืออะไร

Telogen Effluvium คืออะไร
Telogen Effluvium คืออะไร

โดยปกติผมเราจะมีระยะการเจริญเติบโตของผม คือ

  1. Anagen หรือระยะการเจริญเติบโตของเส้นผม ยิ่งระยะนี้ยาวผมยิ่งยาวและแข็งแรง
  2. Catagen หรือระยะหยุดการสร้าง ก่อนที่จะหลุดร่วงออกไป
  3. Telogen หรือระยะพักแล้วรากผมจะเคลื่อนตัวสูงขึ้นจนหลุดออกไป ซึ่งปกติจะมีระยะร่วงปกติที่ 100 วัน แล้วเข้าสู่ระยะสร้างใหม่ ซึ่งจะพบแค่ 5-10 % ของเส้นผมเราทั้งศีรษะเท่านั้น 

ผมร่วงระยะทีโลเจน คือ ผมที่หลุดร่วงแบบทั่วๆ ศีรษะ ซึ่งจะมากกว่าการร่วงระยะทีโลเจนปกติ คือมากกว่า 30% หรือพบว่าผมร่วงมากกว่า 200 เส้นต่อวัน และเมื่อนำผมที่ร่วงมาดูบริเวณรากผมจะยังพบกระเปาะปลายรากผม คือเป็นผมระยะทีโลเจน

Telogen Effluvium
Telogen Effluvium

โดยผมร่วงระยะทีโลเจนจะแบ่งได้สองแบบคือ

  1. Acute telogen effluvium หรือผมร่วงระยะทีโลเจนแบบฉับพลัน มีผมร่วงแบบทีโลเจนในระยะ 3-6 เดือน 
  2. Chronic telogen effluvium หรือผมร่วงระยะทีโลเจนแบบเรื้อรัง คือมีผมร่วงแบบทีโลเจนนานมากกว่า 6 เดือน 

ซึ่งการแยกทั้งสองแบบออกจากกัน จะช่วยในการตัดสินใจในการตรวจ วินิจฉัย และหาสาเหตุต่อไป


สาเหตุของโรคผมร่วงทั้งหัว (telogen effluvium)

Telogen Effluvium สาเหตุ
สาเหตุของโรคผมร่วงทั้งหัว (telogen effluvium)

สาเหตุของการเกิดผมร่วงระยะทีโลเจน เกิดได้จากหลายปัจจัยที่มารบกวนวงจรการเจริญเติบโตของผมให้ผิดปกติไป โดยสาเหตุที่พบบ่อยมีดังต่อไปนี้

  • หลังคลอดบุตร เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จึงทำให้เกิดผมร่วงในช่วง เดือนที่ 3-5 หลังคลอดได้ ซึ่งอาการผมร่วงจะค่อยๆดีขึ้น 
  • ผมร่วงของเด็กแรกเกิด หรือเรียกว่าการผลัดเส้นผมอ่อนของเด็กทารก
  • ผมร่วงหลังเจ็บป่วยไม่สบาย เช่น เป็นไข้เลือดออก เป็นโควิด
  • หลังผ่าตัด โดยเฉพาะหลังดมยาสลบเป็นเวลานาน หรือความเครียดหลังผ่าตัด
  • หลังได้รับอุบัติเหตุ
  • ความเครียด
  • น้ำหนักลดเยอะมากในเวลาอันสั้น หรือการทานอาหารไม่ครบหมู่ เช่น การทานมังสวิรัติ
  • โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • การโดนแสงแดดจัดเกินไป
  • โรคผิวหนังบางโรค เช่น Erythroderma
  • ยาบางอย่าง เช่น ยาคุมกำเนิด ยารักษาสิว ยากันชักบางตัว
    • รายชื่อยาที่ทำให้ผมร่วงระยะทีโลเจน คือ
      • ยาลดความดันโลหิต เช่น ACE inhibitor
      • ยากันชัก เช่น Levodopa
      • ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น fluoxetine (Prozac) และ sertraline (Zoloft)
      • ยารักษาโรคกระเพาะ เช่น cemetidine
      • ยารักษาสิว เช่น isotretinoin (Accutane)
      • ยาลดการอักเสบ เช่น Naproxen หรือยากลุ่ม NSAID 
      • Steroids

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ สาเหตุผมร่วงผู้หญิง และ สาเหตุผมร่วงผู้ชาย ที่ควรรู้ไว้ เพื่อการรักษาที่ถูกจุด


อาการของโรคผมร่วงทั้งหัว (telogen effluvium) 

Telogen Effluvium อาการ
อาการของโรคผมร่วงทั้งหัว (telogen effluvium)

อาการผมร่วงจะเป็นผมร่วงทั่วศีรษะ อาจจะพบว่ามีอาการผมร่วงหลังจากสาเหตุเช่นเจ็บป่วยไม่สบาย 1-3 เดือนหลังจากหายป่วย และอาการเหล่านี้จะค่อยๆ หายและดีขึ้นใน 3-6 เดือน จะเริ่มเห็นไรผมขึ้นใหม่ ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ และไม่มีผื่นหรือบาดแผลที่ผิวหนังศีรษะ 

บางรายอาจจะมีภาวะเจ็บทั่วศีรษะหรือที่เรียกว่า Trichodynia นำมาก่อนจะมีอาการผมร่วง หรือ บางรายอาจจะเล็บเป็นร่องในแนวขวงหรือที่เรียกว่า Beau lines เนื่องจากเคยมีภาวะเจ็บป่วยไม่สบาย แล้วไปรบกวนการเจริญเติบโตของการสร้างเล็บด้วยเช่นเดียวกัน

อาการผมร่วงทั่วๆ ศีรษะจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 3-6 เดือน จะเริ่มเห็นไรผมขึ้นตามไรผมด้านหน้า หรือ แสกผม แต่บางรายอาจจะไม่สามารถฟื้นฟูได้เต็มที่ แล้วทำให้ผมร่วงบางถาวร หรือกลายเป็นผมบางแบบกรรมพันธุ์ต่อไปได้


โรคผมร่วงทั้งหัว (telogen effluvium) ต้องพบแพทย์ไหม

การที่มีผมร่วงแบบทั่วศีรษะนั้นควรได้รับการตรวจและประเมินโดยแพทย์ เพื่อดูว่าควรหาสาเหตุต่อไปหรือไม่ หรือมีลักษณะจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่ต้องได้รับการรักษาต่อไปหรือไม่ หรือต้องวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ ที่ควรได้รับการรักษาในระยะเริ่มจะดีกว่าเมื่อผมร่วงบางไปมากแล้ว

โดยการวินิจฉัยจะเริ่มจากการซักประวัติ แล้วตรวจเส้นผม และหนังศีรษะ ผิวหนัง และ เล็บ รวมไปถึงการใช้ tricoscope และ dermoscope ส่องตรวจที่หนังศีรษะ รวมไปถึงบางรายอาจจะต้องเจาะเลือดหาสาเหตุอื่นๆ ร่วมด้วย


วิธีรักษาโรคผมร่วงทั้งหัว (telogen effluvium)

การรักษาผมร่วงระยะทีโลเจน นั้นจะเน้นรักษาที่สาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น ถ้ามีภาวะซีด เป็นไทรอยด์ ก็ควรได้รับการรักษากับคุณหมออายุรกรรม หรือถ้าเป็นหลังจากไม่สบายเป็นไข้เลือดออก เป็นโควิด หรือหลังน้ำหนักลดลงเยอะ เมื่อร่างกายไปพักผ่อนและฟื้นฟูปรับตัวอาการผมร่วงจะค่อยๆ ดีขึ้น จึงเน้นในเรื่องสาเหตุแล้วแก้ไขสาเหตุเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี พบว่า 35% ของคนไข้ไม่ทราบสาเหตุของผมร่วงชัดเจน การรักษาจะมุ่งเน้นไปในแนวการบำรุง ฟื้นฟูหนังศีรษะและเส้นผม และหลีกเลี่ยงการทำร้ายเส้นผมและหนังศีรษะ โดยมีคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • ทานอาหารให้ครบหมู่
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ผ่อนคลายความเครียด
  • สระผมแบบเบามือ และหลีกเลี่ยงการทำเคมีกับผมไปก่อนจนกว่าจะหยุดผมร่วง
  • หวีผมเบามือ
  • ยาทากลุ่ม minoxidil ช่วยกระตุ้นการงอกใหม่ของผมได้
  • ทานวิตามินบำรุงผม เพื่อช่วยเรื่องการสร้างของเส้นผมให้แข็งแรง เช่น ไบโอติน และซิงค์
  • รักษาสาเหตุ เช่น ขาดวิตามินดี เปลี่ยนชนิดของยาคุมกำเนิด 

สรุป Telogen Effluvium รักษาที่ไหนดี

ผมร่วงทั่วศีรษะระระยทีโลเจน เป็นผมร่วงที่พบบ่อย โดยพบว่ามีผมร่วงหลังจากเจ็บป่วยไม่สบาย 1-3 เดือน หลังจากนั้นจะมีผมร่วงทั่วๆ ศีรษะ แบบไม่มีแผลที่หนังศีรษะต่อไปได้ 3-6 เดือนแล้วจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อร่างกายได้ฟื้นฟูและปรับตัว หรือหยุดสาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วงไป แต่ถ้าผมยังร่วงต่อเนื่อง ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ว่ายังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดผมร่วงอีกหรือไม่ เพื่อแก้ไขสาเหตุ หากปล่อยไว้เนิ่นนานผมที่ร่วงบางอาจจะเป็นผมบางถาวร หรือผมร่วงบางแบบกรรมพันธุ์ที่รักษายากขึ้นได้ 

หากท่านกำลังกังวลใจอยากปลูกผมเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ หรือตรวจหาสาเหตุให้ชัดเจนว่าเป็นผมร่วงแบบนี้หรือไม่ แนะนำนัดเข้ามาตรวจกับคุณหมอแก้ว พญ.ธาริณี ก่อวิริยกมล ที่ Dr. Tarinee Hair clinic โทร 0889519193 ได้เลยนะคะ

Ref.

Telogen effluvium (hair shedding) | DermNet (dermnetnz.org)

Medications that cause hair loss: List and what to do (medicalnewstoday.com)