หัวล้าน คำนี้ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เด็กหรือวัยรุ่น ตลอดจนผู้สูงอายุ ก็คงไม่อยากตกอยู่ในภาวะนี้ เพราะภาวะหัวล้านอาจทำให้เราขาดความมั่นใจ ส่งผลต่อบุคลิกภาพและการใช้ชีวิต ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียดตามมาได้ ดังนั้น วันนี้เราจะมารู้จักภาวะหัวล้านว่าเกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วมีแนวทางการรักษาอย่างไรที่ช่วยดูแลและฟื้นฟูเส้นผมให้กลับมาอีกครั้ง ส่งคืนความมั่นใจให้กับเรา
สรุป หัวล้านเกิดจากอะไร? แนะนำวิธีรักษาให้ผมกลับมาหนา
- สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมบาง หัวล้าน เกิดจากปัจจัยภายในร่างกายอย่างพันธุกรรม การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ตลอดจนช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้รากผมเริ่มฝ่อและหลุดร่วงไป
- โรคทางหนังศีรษะ เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อมหรือโรคผมร่วงฉับพลัน อาจมาจากพันธุกรรม ภูมิคุ้มกัน และความเครียด ทำให้มีภาวะผมร่วงทั่วศีรษะหรือทั่วตัวได้
- การรับสารอาหารไม่เพียงพอและมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน นับเป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อระบบการทำงานของเส้นผมและฮอร์โมนในร่างกายได้เช่นกัน
- ผู้ที่ประสบปัญหาหัวล้าน ผมบาง ควรเข้ารับการปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางในการตรวจวินิจฉัยสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ เพื่อประเมินหาทางรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้
- การรักษาหัวล้าน สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา การกระตุ้นรากผม และการปลูกผม ในกรณีที่รากผมฝ่อหรือรูขุมขนบนหนังศีรษะปิดไปแล้ว
หัวล้าน เกิดจากอะไร
ภาวะหัวล้านอาจมีสาเหตุเกิดได้หลายปัจจัยทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยสาเหตุหลักที่ทำให้หัวล้านสามารถพิจารณาได้ดังนี้
1. หัวล้านจากกรรมพันธุ์
กรรมพันธุ์จากครอบครัวเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วง ผมบางได้ ซึ่งเป็นภาวะผมร่วงที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยจะเริ่มแสดงอาการในช่วงอายุ 35-49 ปี ลักษณะเส้นผมจะบางกว่าคนทั่วไป ผมหลุดร่วงได้ง่าย และมีแนวโน้มหลุดร่วงเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการศึกษาตำแหน่งใน Gene มากมายเพื่อพิจารณาถึงโอกาสเกิดผมบาง หัวล้านในอนาคต
2. ฮอร์โมนเพศชาย
ฮอร์โมนเพศชาย หรือ Androgen มีส่วนเร่งให้วงจรผมสั้นลง ส่งผลให้เกิดภาวะผมบาง หัวล้าน นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงจาก Testosterone ไปเป็น Dihydrotestosterone (DHT) โดยเอนไซม์ 5-Alpha Reductase ที่บริเวณรากผมและต่อมไขมันที่ผม ซึ่ง DHT จะทำให้ผมมีขนาดเส้นเล็กลง บางลง และฝ่อตัวไปในที่สุด
3. ช่วงอายุ
อายุที่มากขึ้น นอกจากส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเสื่อมสภาพลงแล้ว ยังส่งผลต่อช่วงอายุขัยของวงจรเส้นผมเช่นกัน โดยพบว่าผมบางเส้นเมื่อครบวงจรชีวิตเส้นผมแล้ว (สร้าง-หยุดทำงาน-หลุดร่วง) ก็จะเริ่มฝ่อตัวและไม่งอกขึ้นใหม่ รวมถึงกระบวนการฟื้นฟูเส้นผมก็เสื่อมลงหรือทำได้ช้าลงตามไปด้วย
4. หัวล้านจากโรคหนังศีรษะและเส้นผม
โรคที่เกี่ยวข้องกับหนังศีรษะและเส้นผมมีโอกาสทำให้ผมบาง หัวล้านได้เช่นกัน ซึ่งสามารถพิจารณาได้ดังนี้
- หัวล้านจากโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) : โรคผมร่วงเป็นหย่อมมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรม ภูมิคุ้มกันภายใน หรือภาวะความเครียดความเจ็บป่วยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะผมร่วงเป็นหย่อม วงเล็ก ๆ อาจเกิดจุดเดียว หรือหลายจุดก็ได้ บางรายอาจพบว่าภาวะผมร่วงทั่วทั้งศีรษะหรือทั่วตัว วิธีการรักษามีทั้ง ทายา ฉีดยา หรือรับประทานยา โดยมากใช้ระยะเวลารักษา 6-12 เดือน
- หัวล้านจากโรคผมร่วงฉับพลัน (Acute Telogen Effluvium) : เป็นภาวะผมร่วงทั่วทั้งศีรษะหลังจากมีเหตุการณ์ความเครียดอย่างรุนแรงมากระตุ้น มีภาวะเจ็บป่วยไม่สบาย น้ำหนักลดรวดเร็ว หรือหลังคลอดบุตร อาการผมร่วงนี้มักเป็นอยู่ 3-6 เดือน แล้วจะค่อย ๆ หยุดร่วงและงอกขึ้นใหม่ แนะนำให้ใช้แชมพูอ่อน ๆ ไม่หวีผมแรง ทาวิตามินบำรุงผม
- หัวล้านจากโรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania) : เป็นพฤติกรรมการดึงผมตัวเองทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ทำให้เกิดผมร่วง, ผมหัก, ผมขาดเกิดขึ้น รวมถึงเกิดการอักเสบของรากขนด้วย ผมที่ร่วงจะมีความยาวของเส้นผมที่ขาดไม่เท่ากัน อาจพบรอยแดงบนหนังศีรษะหากมีการดึงบ่อย ๆ การรักษาจะร่วมปรึกษากับคุณหมอจิตแพทย์เพื่อช่วยรักษาทางจิตใจหรือทานยาควบคู่ไปด้วย
5. ความเครียดสะสม
ความเครียดส่งผลต่อระบบฮอร์โมนบางตัวในร่างกาย ตลอดจนระบบการทำงานของรากผมและเส้นผม ทำให้มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของวงจรเส้นผม นำมาสู่การเกิดผมร่วง ผมบาง หัวล้านได้
6. ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
หากร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุไม่เพียงพอต่อร่างกาย รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีโภชนาการน้อย ย่อมส่งผลต่อความแข็งแรงของเส้นผม ทำให้ผมร่วง ผมบาง และศีรษะล้าน
แนวทางป้องกันอาการหัวล้าน
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ทานอาหารให้ครบหมู่
- ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด
- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่มีผมกระทบต่อสุขภาพ เช่น นอนดึก ดื่มสุรา สูบบุหรี่
- หากมีปัญหาผมร่วง ผมบางให้รีบมาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ต้น เพื่อทราบแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง และป้องกันไม่ให้อาการผมร่วง ผมบางรุนแรงมากขึ้นจนรากผมฝ่อ ต้องรักษาด้วยการปลูกผมแทน
วิธีแก้ปัญหาหัวล้าน
เมื่อเกิดปัญหาหัวล้านตรงกลางศีรษะ เราสามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจประเมินการรักษาได้ โดยแนวทางการรักษามีหลากหลายดังนี้
รักษาอาการหัวล้านด้วยการใช้ยา
การใช้ยา Finasteride หรือยาทา Minoxidl การใช้ยาจะทำให้ผมฝ่อกลับมามีความแข็งแรงและหนามากขึ้น แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และจะได้ผลดีกับบริเวณที่มีรากผม
รักษาอาการหัวล้านด้วยการศัลยกรรมปลูกผม
ในกรณีที่รากผมฝ่อหรือรูขุมขนปิดไปแล้ว แพทย์จะพิจารณาให้ปลูกผมแทน โดยเทคนิคการปลูกผมมีทั้งปลูกผม FUE หรือแบบผ่าตัดปลูกผม FUT ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัญหา สภาพเส้นผม และข้อจำกัดของคนไข้แต่ละราย โดยการปลูกผมที่ Dr.Tarinee Hair Clinic จะใช้เทคนิคพิเศษคือ MicroTRIM FUE เป็นการเตรียมกราฟให้มีขนาดเล็กและพร้อมที่จะปลูกผมกลับ เป็นเทคนิคที่ตอบสนองดีต่อการปลูก ทำให้ได้แนวเป็นธรรมชาติ
รักษาอาการหัวล้านด้วยการกระตุ้นรากผม
นอกจากการรักษาด้วยยาและการผ่าตัดปลูกผมแล้ว ยังมีการรักษารักษาภาวะหัวล้าน โดยการฉีด PRP ผมที่ช่วยฟื้นฟูบำรุงหนังศีรษะและกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม
การฉายเลเซอร์ LLLT เป็นเลเซอร์ความเข้มข้นต่ำที่ช่วยกระตุ้นการงอกของเส้นผม ลดการอักเสบของหนังศีรษะ และฟื้นฟูเซลล์หนังศีรษะให้ทำงานดีขึ้น
การฉีดสเต็มเซลล์ผม Rigenera เป็นการนำรากผมมาสกัดสเต็มเซลล์ของตัวเราเองมาฉีดกลับบริเวณผมที่บางหรือ หัวล้าน เพื่อฟื้นฟูกระตุ้นการงอกของเส้นผม ทำให้เส้นผมแข็งแรง และยังช่วยรักษาผมบางจากกรรมพันธุ์ได้ด้วย
คำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับปัญหาหัวล้าน
ใส่หมวกบ่อย ทำให้หัวล้านจริงไหม
ไม่จริง ยังไม่มีรายงานอะไรที่บ่งบอกว่าการใส่หมวกทำให้ผมร่วง หัวล้าน แต่การใส่หมวกที่คับเกินไปอาจกดทับศีรษะทำให้ผมร่วงเฉพาะจุด อีกทั้งการใส่หมวกนานเกินไปทำให้เกิดการอับชื้น มีเชื้อรา และเกิดผมร่วงได้
ทำเคมีบ่อย ทำให้หัวล้านจริงไหม
การทำเคมีที่เส้นผมบ่อยเกินไป เช่น ฟอกสีผมบ่อย อาจทำให้ผมเสียขาดและดูผมบางลงได้ แต่ไม่ได้มีผลต่อการมีภาวะผมบางจากกรรมพันธุ์หรือหัวล้านโดยตรง
สรุปปัญหาหัวล้าน
ปัญหาหัวล้าน เกิดจากกรรมพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ แต่มีหลายปัจจัยที่ทำให้หัวล้านได้เช่นกัน เช่น ความเครียด, โรคผมร่วงเป็นหย่อม, โรคดึงผม หรืออายุที่มากขึ้น ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาผมบาง หัวล้าน ควรเข้ารับการตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพ และป้องกันไม่ให้รากผมฝ่อ สำหรับคนไข้ที่มีรากผมฝ่อก็สามารถเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกผมได้
หากมีปัญหาผมร่วง ผมบาง หัวล้าน สามารถปรึกษาแพทย์หญิงธาริณี ก่อวิริยกมล ได้ที่ Dr.Tarinee Hair Clinic โทร 0889519193 หรือไลน์ @drtarinee
Ref
Chin, H., Sood, T. & Patrick, M. ( 2022, October 16). Androgenetic Alopecia. National Library of Medicine. Androgenetic Alopecia – StatPearls – NCBI Bookshelf (nih.gov)
Goldstein, B. & Goldstein, A. (2022, August 10). Patient education: Androgenetic alopecia in men and women (Beyond the Basics). UpToDate. Patient education: Androgenetic alopecia in men and women (Beyond the Basics) – UpToDate