เหา

“เหา” ฟังดูเหมือนเป็นปัญหาของเด็ก ๆ แต่แท้จริงแล้ว เหาเป็นปัญหาที่เกิดได้กับคนทุกช่วงวัย เพราะสาเหตุที่แท้จริงคือการติดต่อผ่านการสัมผัสใกล้ชิด หากเรามีการใช้สิ่งของร่วมกับคนที่เป็นเหา ก็จะสามารถติดโรคนี้ได้เช่นเดียวกันค่ะ และเมื่อเป็นเหา หลาย ๆ คนก็มีความกังวลว่านอกจากอาการคันแล้ว การเป็นเหาจะมีผลต่ออาการผมร่วงไหม? วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ


ทำความรู้จัก “เหา”

ไข่เหา
ทำความรู้จัก “เหา”

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับ “เหา” กันก่อนค่ะ หลาย ๆ คนอาจจะเคยมีความทรงจำเกี่ยวกับเหากันอยู่บ้าง เมื่อเป็นเหาบนศีรษะก็จะมีทั้งไข่เหาและตัวเหา ที่เกิดและโตเป็นวงจรไม่จบสิ้นหากไม่รีบรักษา

ตัวเหา

เหา มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pediculus humanus capitis (เหาคนหรือเหาหัว) เป็นแมลงที่มีลักษณะตัวเรียวยาว มีหัวเล็ก และไม่มีปีก ความยาวของตัวเหาจะอยู่ที่ 3 – 4 มิลลิเมตร ตัวของเหาจะมีลักษณะแบน มีปากที่สามารถเจาะเข้าไปที่ผิวหนัง และดูดเลือดได้ ปากของเหาโดยปกติจะหดอยู่ใต้หัวและจะโผล่ออกมาเฉพาะเวลาที่กินอาหาร ตัวเหาจะมีขาทั้งหมด 3 คู่ โดยมีกรงเล็บที่สามารถเกาะติดกับเส้นผมของเรา หรือใช้เคลื่อนที่บนหนังศีรษะของเราได้เป็นอย่างดีค่ะ

อีกหนึ่งความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเหาคือเรื่องที่ว่า เหากระโดดได้ไหม เพราะหลาย ๆ คนเข้าใจว่าเหาสามารถกระโดดจากหัวหนึ่งไปยังอีกหัวหนึ่งได้ คำตอบคือเหาไม่สามารถกระโดดไกลขนาดนั้นได้ค่ะ แต่ก็สามารถเคลื่อนที่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนได้หากอยู่ใกล้ชิดกันมาก ๆ

ไข่เหา

ไข่เหาจะมีลักษณะเป็นตุ่มสีขาว มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ติดอยู่ที่โคนผมแน่น เพราะตัวเหาจะมีการหลั่งสารหุ้มปลายด้านหนึ่งของไข่เหาเพื่อให้ไข่ติดแน่นกับเส้นผมโดยไม่เลื่อนหลุด ไข่เหาจึงไม่สามารถลื่นไหลไปตามเส้นผมได้ ความยาวของไข่เหาจะอยู่ที่ประมาณ 0.5 มม. เริ่มแรก เหาจะวางไข่ชิดโคนผม แต่เมื่อผมยาวขึ้นไข่เหาก็จะเคลื่อนที่ห่างออกจากหนังศีรษะออกมาด้วย โดยไข่จะใช้เวลาประมาณ 7-10 วันในการฟักตัวค่ะ


เหา เกิดจากอะไร เกิดขึ้นเองได้ไหม

เป็นเหา
เหา เกิดจากอะไร เกิดขึ้นเองได้ไหม

หลาย ๆ คนคงจะมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับอาการเหาขึ้นหัว สรุปแล้วเหาเกิดจากอะไร เหาเกิดขึ้นเองได้ไหม แล้วไม่สระผมกี่วันถึงเป็นเหา? 

แรกเริ่มเดิมที เราอาจจะเข้าใจกันว่าสาเหตุของเหาคือความสกปรก หากหมั่นสระผมและรักษาความสะอาดของเส้นผมก็จะไม่ติดโรคเหา แต่แท้จริงแล้ว สาเหตุของการเป็นเหามาจากการติดต่อใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นเหา หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น หวี ผ้าปูที่นอน หรือปลอกหมอน ด้วยเหตุนี้เหาจึงมักระบาดในหมู่เด็ก ๆ ที่มักมีการวิ่งเล่น กิน นอนร่วมกันอย่างใกล้ชิดและไม่ระมัดระวัง โดยมักจะระบาดเป็นช่วง ๆ 

คนที่เป็นเหาจะมีอาการที่ชัดเจนที่สุดคือ อาการคัน ซึ่งอาจเกิดได้ทั้งที่หนังศีรษะและที่เครา อาจจะมีความรู้สึกยุบยิบเหมือนมีตัวอะไรขยับอยู่ที่หนังศีรษะ อย่างไรก็ตาม อาการของโรคเหาจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ หรือปวด เว้นแต่กรณีที่เกาจนเป็นแผล นอกจากนี้หากเป็นเหามานานหรือมีอาการรุนแรง ก็อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่ผิวหนังหรือเกิดต่อมน้ำเหลืองบริเวณข้างคอหรือท้ายทอยโตได้


เป็นเหาทำให้ผมร่วงจริงไหม

ตัวเหา
เป็นเหาทำให้ผมร่วงจริงไหม

แท้จริงแล้ว การเป็นเหาไม่ได้เป็นสาเหตุผมร่วงของผู้หญิงโดยตรง แต่หากผู้ป่วยเกาจนเป็นแผลเปิดและติดเชื้อ ก็อาจนำไปสู่อาการผมร่วงได้ 

ดังนั้นเมื่อผมร่วง ควรเริ่มจากการสังเกตจำนวนเส้นผมที่ร่วงในแต่ละวัน ว่ามากเกินปกติหรือไม่ หากเริ่มร่วงมาก สามารถเริ่มจากการดูแลเส้นผมและหนังศีรษะ และทานอาหารบำรุงผมหรือวิตามินบำรุงผมร่วมด้วยได้ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น สาเหตุของผมร่วงเกิดจากการติดเชื้อ มีอาการบวมแดงเจ็บร่วมด้วย หรือผมร่วงแปลก ๆ อย่างผมร่วงเป็นหย่อม ก็ควรเริ่มรักษาอาการผมร่วงอย่างจริงจังโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญค่ะ

ผู้ที่ต้องการรักษาอาการผมร่วง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาผมร่วงให้ถูกจุด ซึ่งในปัจจุบันก็มีวิธีการรักษาผมร่วงหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผม FUE หรือการฉีดสเต็มเซลล์ผม (Rigenera) ซึ่งสามารถช่วยผู้ที่มีผมร่วง ผมบาง ให้กลับมามั่นใจเหมือนเดิมได้ หรือจะเป็นการฉีด PRP ผม ที่เป็นการสร้างเส้นผมด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้น กระตุ้นการงอกของเส้นผมโดยไม่ต้องผ่าตัด

ทั้งนี้ หากผมร่วงขณะที่ยังเป็นเหาอยู่ จะต้องรักษาอาการเป็นเหาให้หายเสียก่อน จึงจะสามารถรักษาอาการผมร่วงต่อไปได้ค่ะ


วิธีรักษาเหา

 เหากระโดดได้ไหม
วิธีรักษาเหา

วิธีแก้เหา วิธีรักษาเหามีหลากหลายวิธีค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยา ใช้สมุนไพร หวีเสนียด หรือกรรมวิธีตามภูมิปัญญาชาวบ้านอื่น ๆ โดยแต่ละวิธีก็จะมีผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปในแต่ละบุคคล สามารถเลือกนำไปใช้ได้ตามความสะดวกค่ะ

1.รักษาเหาด้วยยา

ยาที่ใช้รักษาเหาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทคร่าว ๆ ค่ะ ซึ่งก็คือยารักษาเหาที่สามารถซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป กับยาที่ต้องให้แพทย์สั่งจ่ายให้ โดยยาที่ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่ง เช่น เบนซิล แอลกอฮอล์ (Benzyl alcohol) ที่สามารถฆ่าตัวเหาได้ แต่ไม่สามารถฆ่าไข่เหาได้, มาลาไทออน (Malathion) ฆ่าได้ทั้งตัวเหาและทำให้ไข่เหาฝ่อ แต่ไม่ควรวางไว้ในบริเวณที่มีความร้อนเนื่องจากไวต่อความร้อน เป็นต้น 

ยาเหล่านี้ก็จะมีช่วงอายุของเด็กที่สามารถใช้งานได้แตกต่างกันออกไป และอาจก่อให้เกิดอันตรายหากใช้ผิดวิธี จึงต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งค่ะ

2.รักษาเหาด้วยหวีเสนียด

หวีเสนียด หรือหวีเหา เป็นหวีซี่ถี่ที่สามารถสางเอาทั้งตัวเหาและไข่เหาออกมาจากผมได้ ก่อนใช้หวีเสนียดให้ชโลมผมให้เปียก ตามด้วยครีมนวด จากนั้นจึงค่อย ๆ ใช้หวีเสนียดสางเอาตัวเหาและไข่เหาออกมาจากผม วิธีนี้ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องค่อย ๆ หวีให้ทั่วอย่างละเอียดรอบคอบ รวมถึงอาจจะต้องทำซ้ำหลายครั้งกว่าตัวเหาและไข่เหาจะหมดไปค่ะ

3.รักษาเหาด้วยสมุนไพร

การรักษาเหาด้วยสมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่ต้องการใช้สารเคมี โดยสมุนไพรไทยเป็นวิธีการรักษาเหาจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมานาน ไม่ว่าจะเป็นใบน้อยหน่า มะกรูด มะตูม ใบยอ หรือใบสะเดา ซึ่งแต่ละชนิดก็มีวิธีการใช้ที่ต่างกันออกไปดังนี้

  • ใบน้อยหน่า ให้ใช้ใบน้อยหน่าสดประมาณ 4 ใบ ตำผสมกับเหล้าขาวจนเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน จากนั้นให้คั้นเอาแต่น้ำ ชโลมทั่วศีรษะประมาณ 10 นาที แล้วค่อยใช้หวีสางผม
  • ผลมะกรูด นำผลมะกรูดแก่มาย่างไฟ พักไว้ให้เย็น จากนั้นผ่าครึ่งและนำไปสระผมขยี้ให้ทั่วแล้วจบด้วยการใช้หวีเสนียดสางเอาเหาและไข่เหาออก
  • ผลมะตูม ผ่าซีกผลมะตูมสุกเอายางทาให้ทั่วเส้นผมแล้วหวีเบา ๆ เมื่อยางมะตูมแห้งจึงล้างน้ำให้สะอาดแล้วใช้หวีเสนียดหวีอีกครั้ง
  • ใบสะเดา นำใบสะเดาแก่ โขลกผสมกับน้ำให้ละเอียดแล้วชโลมทั่วหนังศีรษะ จากนั้นจึงล้างออก
  • หอมแดง ใช้หอมแดง 4 – 5 หัว ตำให้ละเอียด นำน้ำมาพอกทั่วศีรษะ ทิ้งไว้สักครู่ ล้างให้สะอาด แล้วจึงใช้หวีเสนียดหวีซ้ำ
  • ใบยอ นำใบยอสดมาตำกับน้ำแล้วพอกให้ทั่วศีรษะจากนั้นทิ้งไว้สักพักแล้วล้างออก

แต่การรักษาแบบสมุนไพรก็อาจจะมีประสิทธิภาพไม่เท่าตัวยามาตรฐาน หากใช้แล้วไม่ได้ผลควรพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษามาตรฐานด้วย

4.รักษาเหาด้วยการตัดผม

การตัดผมเป็นวิธีการรักษาเหาที่ได้ผลชะงัด เนื่องจากเมื่อไม่มีเส้นผมให้เหาเกาะติด เหาก็ไม่สามารถอยู่บนศีรษะของเราได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม วิธีนี้คงเป็นตัวเลือกท้าย ๆ สำหรับคนที่รักเส้นผม เพราะกว่าจะไว้ผมยาวได้ก็ใช้เวลาไม่น้อยเลยค่ะ

5.รักษาเหาด้วยเบกกิ้งโซดา

เบกกิ้งโซดาจะช่วยทำให้ผมแห้งและทำให้ไข่เหาหลุดออกมาได้ค่ะ เป็นวิธีเอาไข่เหาออกจากผมที่ได้ผลพอสมควร วิธีการใช้งานคือ ให้นำเบกกิ้งโซดาผสมกับน้ำ จากนั้นใช้หวีจุ่มลงไปแล้วนำมาหวีให้ทั่วศีรษะ การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องระมัดระวัง บางคนอาจจะมีอาการระคายเคืองจากเบกกิ้งโซดา หรืออาจใช้แล้วไม่ได้ผลได้

6.รักษาเหาด้วยน้ำส้มสายชู

การรักษาเหาด้วยน้ำส้มใสสายชูจะคล้ายคลึงกับการรักษาเหาด้วยเบกกิ้งโซดาค่ะ โดยวิธีการคือให้นำน้ำส้มสายชูผสมกับน้ำอุ่น อาจใช้หวีเสนียดจุ่มน้ำแล้วค่อย ๆ นำมาหวีให้ทั่ว หรือจะนำน้ำผสมน้ำส้มสายชูมาราดบนศีรษะแล้วใช้หวีเสนียดสางเอาเหาและไข่เหาออกก็ได้ค่ะ การรักษาด้วยวิธีนี้อาจจะทำให้มีอาการระคายเคือง หรืออาจใช้แล้วไม่ได้ผลเหมือนกับการใช้เบกกิ้งโซดา จึงแนะนำการรักษาด้วยยามาตรฐาน จะเป็นการรักษามีประสิทธิภาพดีกว่าค่ะ


สระผมทุกวัน เหาจะหายไหม

สระผมทุกวัน เหาหายไหม
สระผมทุกวัน เหาจะหายไหม

ถึงแม้ว่าการสระผมทุกวันจะดูเหมือนเป็นการรักษาความสะอาด แต่หากถามว่าสระผมทุกวันดีไหมหรือสระผมทุกวันจะช่วยกำจัดเหาได้ไหม แน่นอนว่าไม่ค่ะ เพราะไข่เหาที่เกาะติดอยู่กับโคนผมของคนที่เป็นเหานั้น จะยึดติดไว้กับเส้นผมอย่างแน่นหนา ทำให้หากใช้วิธีการสระผมอย่างเดียวโดยไม่ใช้ยาที่มีฤทธิ์ฆ่าตัวเหาและไข่เหาร่วมด้วย สุดท้ายแล้วก็จะยังหลงเหลือไข่เหาอยู่บนหนังศีรษะ ซึ่งจะฟักเป็นตัวเหาต่อไปอยู่ดีค่ะ 

หากเป็นเหา ควรสระผมอย่างสม่ำเสมอ ทุก 2 – 3 วัน โดยทำตามวิธีสระผมที่ถูกต้องเพื่อให้เส้นผมและหนังศีรษะสะอาด ควบคู่ไปกับการใช้ยา สมุนไพร หรือวิธีการกำจัดเหาอื่น ๆ ตามที่สะดวก ไม่ควรสระผมทุกวัน เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้เหาหายไปแล้ว ยังทำให้ผมแห้งอีกด้วย


ข้อสรุป เหาทำให้ผมร่วงจริงไหม

เหา เป็นปัญหาที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแค่เฉพาะเรื่องความสะอาด แต่ยังมีปัจจัยและสาเหตุหลักอื่น ดังนั้นผู้ที่มีเหาบนหัวไม่ได้แปลว่าคนนั้นเป็นคนสกปรกนะคะ เพียงแต่อาจอยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นเหาจนติดโรคมาได้ค่ะ เมื่อรู้แล้ว รีบรักษา ก็จะสามารถหายได้ไว และไม่จำเป็นต้องใช้ยาที่รุนแรงค่ะ

นอกจากนี้ เหายังไม่มีสาเหตุเกี่ยวข้องโดยตรงกับอาการผมร่วงด้วย แต่อาจเกิดเป็นสาเหตุทางอ้อมได้หากมีการเกาศีรษะจนติดเชื้อ ดังนั้น หากผมร่วงเยอะหลังเป็นเหา ควรสังเกตว่ามีอาการบวมแดง หรือรู้สึกเจ็บที่หนังศีรษะร่วมด้วยไหม ถ้ามีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาต่อไปค่ะ

ต้องการปรึกษาแพทย์ หรือรักษาอาการต่อเนื่องหลังเป็นเหา สามารถเข้ามารักษาที่ Dr.Tarinee Hair Clinic ได้ค่ะ ให้บริการโดยคุณหมอแก้ว พญ.ธาริณี ก่อวิริยกมล ที่เชี่ยวชาญทั้งด้านโรคบนหนังศีรษะ การรักษาอาการผมร่วง รวมถึงการปลูกผม ให้ผู้เข้ารับการรักษาสามารถรักษาปัญหาผมได้อย่างครบวงจรในที่เดียว

สนใจปรึกษาคุณหมอที่ Dr.Tarinee Hair Clinic สามารถติดต่อได้ที่ : 


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Centers for Disease Control and Prevention. (2017, 30 December). Pediculosis. CDC.
https://www.cdc.gov/dpdx/pediculosis/index.html