ผมร่วงเป็นหย่อม

ปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม

การรักษาอาการผมร่วง ผมบางสำหรับคนไข้นั้นเป็นการรักษาที่คุณหมอให้ความสำคัญในการซักประวัติต่างๆ รวมไปถึงการตรวจลักษณะผมคร่าวๆ เพื่อที่จะสามารถเชื่อมโยงถึงคำตอบอาการผมร่วง ผมบางได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกันกับอาการผมร่วงเป็นย่อม หรือผมร่วงเป็นวง ที่ถือเป็นปัญหาเกี่ยวกับเส้นผม หนังศีรษะอีกรูปแบบหนึ่ง มักสร้างความกังวลใจ และความไม่มั่นใจให้คนไข้ที่มีอาการนี้ไม่แพ้กับผมร่วง ผมบางเช่นกัน

วันนี้ Dr.Tarinee จะขอพาทุกคนไปรู้จักกับโรคผมร่วงเป็นหย่อมกันให้มากยิ่งขึ้น ทั้งเจาะลึกเกี่ยวกับสาเหตุของผมร่วงเป็นหย่อม ใครบ้างที่มีความเสี่ยง พร้อมวิธีการรักษา และอื่นๆ อีกมากมายในบทความนี้ค่ะ

โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) คืออะไร

ผมร่วงเป็นวง วิธีรักษา
ผมร่วงเป็นวง

ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) คือ ลักษณะอาการผมร่วงเป็นวง มีผมแหว่งในบางจุดของหนังศีรษะ ที่สามารถพบได้ในทั้งเพศหญิงและเพศชาย มักพบได้บ่อยในผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ซึ่งโรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันมีความผิดปกติจึงส่งผลให้ภายในรูขุมขนที่สร้างเส้นผมนั้น รากผมเกิดการทำลายจากภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ 

สำหรับอาการผมร่วงเป็นหย่อมนั้นในแต่ละคนอาจมีผมร่วงเป็นหย่อมเพียงไม่กี่จุด หรือบางคนอาจมีมากกว่านั้น ซึ่งขนาดเส้นรอบวงของผมแหว่ง ก็มีความแตกต่างออกไปในแต่ละคน บางกรณีอาจมีอาการคัน แดงในบริเวณที่มีผมร่วงด้วยเช่นกัน โดยโรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจพบอาการขนส่วนอื่นๆ ของร่างกายร่วงร่วมด้วยได้ เช่น คิ้ว รักแร้ หนวดเครา หัวหน่าว เป็นต้น นอกจากนั้นอาการผมร่วงเป็นหย่อม ยังสามารถแบ่งออกได้หลายประเภท ซึ่งได้แก่

Alopecia areata (AA)

สำหรับอาการผมร่วงเป็นหย่อมประเภทแรกอย่าง Alopecia areata (AA) จะมีลักษณะอาการผมร่วงเป็นวงขนาดเท่าเหรียญบาท มีได้ทั้งวงเดียวหรือหลายวง เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกายไปทำลายรากผม แบบไม่เกิดการอักเสบ โดยผมร่วงเป็นหย่อมประเภท Alopecia areata (AA) สามารถขยายวงกว้างขึ้นเป็นผมร่วงแบบ Alopecia Totalis หรือ Alopecia Universalis ได้

Alopecia totalis (AT)

อาการผมร่วงประเภท Alopecia totalis (AT) คืออาการผมร่วงเป็นหย่อมที่เกิดจากภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกับผมร่วงประเภท Alopecia areata แต่เกิดขึ้นจำนวนมาก มีผมร่วงหลายจุดทั่วศีรษะ หรืออาจทำให้ผมร่วงจนหมดศีรษะ 

Alopecia Universalis (AU)

อาการผมร่วงประเภท Alopecia Universalis (AU) คืออาการผมร่วงเป็นหย่อมที่เกิดจากภูมิคุ้มกันเช่นเดียวกับผมร่วงทั้ง 2 ชนิดก่อนหน้า แต่จะมีอาการรุนแรงมากที่สุด โดยจะทำให้ผมร่วงทั่วร่างกาย ทั้งบริเวณศีรษะ แขน ขา รักแร้ เป็นต้น และอาการผมร่วงประเภทนี้จะตอบสนองต่อการรักษาได้ยากที่สุด

สาเหตุของปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม ๆ เกิดจากอะไร

สำหรับสาเหตุของอาการผมร่วงเป็นหย่อม สามารถแบ่งออกได้เป็นหลักๆ 4 สาเหตุ คือ

  • ความผิดปกติของภูมิคุ้มกันผมร่วงจากภูมิแพ้ หรือความผิดปกติของภูมิคุ้มกัน มักเกิดกับผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับไทรอยด์ โรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน โรคด่างขาว โรคเบาหวานประเภทที่ 1 โดยระบบภูมิคุ้มกันจะไปทำลายรากผม จนทำให้เกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อม 
  • ความเครียด ความเครียดก็ส่งผลให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่ทำให้วงจรของเส้นผมสั้นลง ความเครียดทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ขาดสารอาหารบางชนิดก็ทำให้เป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือบางคนเมื่อเครียดแล้วมักจะชอบดึงผมตัวเอง ก็ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้
  • กรรมพันธุ์ หรือ ฮอร์โมน ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติผมร่วงเป็นหย่อมหรือผมบาง ประกอบกับฮอร์โมน DHT ที่เข้าไปทำปฏิกิริยากับตัวรับแอนโดรเจน (Androgen receptor) บริเวณรากผม ทำให้วงจรของผมสั้นลง ก็จะมีโอกาสเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อมได้เช่นกัน
  • อาการเจ็บป่วย ไม่สบาย อาการเจ็บป่วยบางโรคก็ทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้ เช่น โควิด-19 ไข้เลือดออก ป่วยหนักจนน้ำหนักลดลงเยอะ ที่มักจะทำให้เกิดผมร่วงระยะทีโลเจน (telogen effluvium) ที่ทำให้ผมร่วงมากผิดปกติ และสามารถกระตุ้นให้ผมร่วงเป็นหย่อมกำเริบได้ด้วยเช่นกัน

อ่านบทความเพิ่มเติม : สาเหตุผมร่วงของผู้หญิง และ สาเหตุผมร่วงของผู้ชาย

โรคผมร่วงเป็นหย่อม วินิจฉัยอย่างไร

ผมร่วงเป็นโรคอะไร
การวินิจฉัยผมร่วง

หลายคนเมื่อมีอาการผมแหว่งผมร่วงเป็นหย่อม และต้องเข้าไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการว่ามีลักษณะเป็นอย่างไรบ้างนั้น แพทย์จะมีการตรวจดูเส้นผม และหนังศีรษะ ซึ่งวิธีการการวินิจฉัยอาการผมร่วงเป็นหย่อมจะมีดังต่อไปนี้ค่ะ

  • พูดคุย และซักถามเบื้องต้นเกี่ยวกับอาการของเส้นผมและหนังศีรษะที่คนไข้กำลังเผชิญอย่างละเอียด
  • มีการตรวจดูบริเวณที่มีอาการผมร่วงเป็นหย่อม
  • ทดสอบดึงผมว่าสามารถหลุดออกมาได้ง่ายหรือไม่
  • ตรวจดูเส้นผมและรูขุมขนว่ามีลักษณะหรือรูปร่างผิดปกติหรือไม่
  • ในบางกรณีแพทย์อาจมีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อของหนังศีรษะไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาสาเหตุของโรคผมร่วงเป็นหย่อมเพิ่มเติม
  • นอกจากการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อแล้วแพทย์อาจมีการตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อดูความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน

ใครที่เสี่ยงเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม

แม้ว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีอัตราการเกิดที่ต่ำมาก โดยพบได้ประมาณ 0.1-0.2% ก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามอาการผมร่วงเป็นหย่อมมักพบได้บ่อยในผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 ปี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวว่าเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม
  • ผู้ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม
  • ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด
  • ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนัง
  • ผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์บางชนิด
  • ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง
  • ผู้ที่เป็นโรคด่างขาว

วิธีรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อม

สำหรับการรักษาผมร่วงเป็นหย่อมในปัจจุบันนั้นถือได้ว่ายังไม่มีวิธีที่สามารถรักษาให้โรคนี้หายขาดได้อย่างถาวร เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาโรคผมร่วงเป็นหย่อมนั้นจะมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกถึง 40 % รวมถึงยังมีโอกาสเป็นๆ หายๆ ประมาณ 30 % จึงทำให้การรักษาผมร่วงเป็นหย่อมจะมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไปตามความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยโรคผมร่วงเป็นหย่อม ผมร่วงเป็นวงมีวิธีการรักษาดังต่อไปนี้ค่ะ

  • การรักษาด้วยตนเอง อาการผมร่วงเป็นหย่อม สามารถเริ่มต้นรักษาได้ด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากผ่อนคลายความเครียด กินอาหารที่มีวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซี และสังกะสี ที่จะช่วยบำรุงเส้นผม และคอยปกป้องผมจากมลภาวะต่างๆ ที่เสี่ยงทำให้เกิดผมร่วงเป็นหย่อม หรือในบางรายอาจมีการใช้เวลาปล่อยให้ผมบริเวณที่แหว่ง ค่อยๆ ขึ้นเอง
  • การรักษาโดยการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นยาต้านการอักเสบเพื่อรักษาอาการผมร่วงเป็นหย่อม มีทั้งรูปแบบยาทาเฉพาะที่ ยาสำหรับรับประทาน และยาสำหรับฉีดเข้าผิวหนัง โดยจะมีวิธีการและระยะเวลาของผลลัพธ์ที่ต่างกัน
  • การแก้ที่ระบบภูมิคุ้มกัน ด้วยการใช้ยากดหรือปรับภูมิคุ้มกัน การใช้ยากดภูมิคุ้มกันและการปรับภูมิคุ้มกัน หรือทำภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการใช้สารที่ทำให้เกิดภูมิแพ้ช่วยทำให้ลดอาการผมร่วงจากภูมิแพ้ และแพทย์อาจจะพิจารณาใช้ในกรณีที่ผมร่วงเป็นบริเวณกว้าง หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น แต่ก็อาจทำให้มีผลข้างเคียงอื่นๆ ตามมาได้เช่นกัน
  • การใช้ยาไมน็อกซิดิล เป็นยาชนิดทาภายนอก โดยจะใช้ทาบริเวณที่ผมร่วงเป็นหย่อม วันละ 2 ครั้ง ต้องใช้ต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 3 เดือน และต้องใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยจึงจะเห็นผล
  • การใช้เลเซอร์ ผ่าตัด และฉายแสง การรักษาผมร่วงเป็นหย่อมวิธีอื่นๆ ที่ทำแล้วเห็นผล ไม่ว่าจะเป็นการใช้เลเซอร์ช่วยกระตุ้นรากผมให้กลับมาแข็งแรงขึ้น การฉายแสงที่จะทำให้รากผมแข็งแรง กระตุ้นการสร้างเส้นผมใหม่ ไปจนถึงการผ่าตัดปลูกผมในบริเวณที่ผมร่วงเป็นจุด อย่างไรก็ตามสำหรับการปลูกผมนั้นแพทย์อาจมีการพิจารณาใช้การรักษาวิธีนี้ในคนไข้บางรายที่มีอาการคงที่แล้ว แต่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น

ภาวะที่พบร่วมกับโรคผมร่วงเป็นหย่อม

โดยปกติแล้วการเกิดโรคที่มีความผิดปกติกับร่างกายปฏิเสธไม่ได้ว่ามักจะมีอาการแทรกซ้อนตามมาด้วยเสมอ เช่นเดียวกับโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีอาการแทรกซ้อนตามมาได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งอาการแทรกซ้อนส่วนใหญ่ที่มักพบร่วมกับผมร่วงเป็นหย่อม ได้แก่

  • โรคด่างขาว
  • โรคเกี่ยวกับเส้นเลือด
  • โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
  • ผื่นแพ้ผิวหนัง
  • อาการวิตกกังวล

ผมร่วงเป็นหย่อม รักษาที่ไหนดี

ผมร่วงเป็นกระจุก
ผมร่วงเป็นกระจุก

สำหรับผู้ที่มีผมร่วงแหว่งผมร่วงเป็นหย่อม กำลังเกิดความกังวลใจในบุคลิกภาพ และมีความต้องการที่จะรักษาอาการดังกล่าว ซึ่งหลายท่านมักเกิดข้อสงสัยว่าจะรักษาผมร่วงเป็นหย่อมที่ไหนดี? อันที่จริงแล้วการรักษาอาการผมร่วงเป็นหย่อม ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเท่านั้น ซึ่งการรักษากับแพทย์เฉพาะทางจะเป็นการรักษาที่ตรงตามสาเหตุของโรค พร้อมทั้งยังแก้ไขได้อย่างตรงจุด และสามารถเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน 

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา “Dr.Tarinee Hair Clinic” เป็นคลินิกปลูกผมเฉพาะทางที่ตอบโจทย์ผู้ที่มีปัญหาเรื่องผมต่างๆ ทั้งปัญหาผมร่วง ผมบาง หัวล้านผมร่วงเป็นจุด ผมร่วงเป็นวง และรวมไปถึงผู้ที่ต้องการปลูกผม ปลูกคิ้วทั้งแบบผ่าตัด และไม่ผ่าตัดอีกด้วย เพราะที่คลินิกนี้อยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคเส้นผมและศัลยกรรมการปลูกผมจากศิริราช โดยแพทย์หญิงธารินี ก่อวิริยกมล หรือคุณหมอแก้ว ที่มีประสบการณ์การทำงานด้านนี้มามากกว่า 15 ปี และดูแลด้านเส้นผมมามากกว่า 3000 เคส และได้ให้การดูแล ไปจนถึงออกแบบการรักษาเองทุกเคสเพื่อให้ได้วิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน

ที่สำคัญที่ Dr.Tarinee Clinic ยังมีเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยพร้อมให้การรักษาผมร่วงเป็นหย่อมอย่างครอบคลุมทุกวิธี และยังเป็นคลินิกที่ได้มาตรฐาน สะอาด และปลอดภัย จึงกล้าการันตีได้ว่าทุกการรักษาจะได้รับผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลงสร้างความมั่นใจให้กลับมาได้อีกครั้ง

อ่านบทความเกี่ยวกับแนวทางการรักษาผมร่วงได้ที่ : วิธีแก้ผมร่วง

สรุปปัญหาผมร่วงเป็นหย่อม ๆ

ผมร่วงเป็นหย่อม ผมร่วงเป็นวง เป็นอาการที่หลายท่านที่อายุต่ำกว่า 40 ปี มักเผชิญกันทั้งชายและหญิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสร้างความกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอาการที่เป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นอีก เป็นๆ หายๆ ได้ตลอด ซึ่งในปัจจุบันมีการรักษาทั้งการใช้ยาแบบทาน และแบบทา พร้อมด้วยวิธีการรักษาอื่นๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตามโรคผมร่วงเป็นหย่อมมีอัตราการเกิดที่น้อยมาก ซึ่งท่านใดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการได้มากกว่าคนอื่นก็สามารถสบายใจได้ 

อย่างไรก็ตามหากท่านใดกำลังเผชิญอาการผมร่วงเป็นหย่อม และมีความสนใจวิธีแก้ผมร่วง หรือมีปัญหาเส้นผม ปัญหาหนังศีรษะอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผมร่วง ผมบาง หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปลูกผม สามารถติดต่อรับคำปรึกษาเพิ่มเติมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง

ขอบคุณข้อมูลจาก

National Institute of Arthritis and Musculoskeletal and Skin Diseases. (2022, June 14). https://www.niams.nih.gov/health-topics/alopecia-areata

McIntosh, J. (2022, December 23). Alopecia areata: Causes, diagnosis and treatments. https://www.medicalnewstoday.com/articles/70956