ผมร่วง ผมบางเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีปัญหาตั้งแต่ด้านกรรมพันธุ์ ปัญหาพฤติกรรม รวมถึงอายุที่มากขึ้นก็สามารถทำให้เส้นผมอ่อนแอลงได้ทั้งนั้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูเซลล์รากผมให้กลับมาแข็งแรงขึ้น PRF ผมจึงเป็นอีกวิธีทางการแพทย์ที่สามารถซ่อมแซมและกระตุ้นให้เซลล์รากผมกลับมาทำงานดีอีกครั้ง
แต่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินว่า PRF คืออะไรกันแน่ เป็นการปลูกผมรึป่าว ? หรือจะหมายถึง PRP หรือไม่? สามารถช่วยแก้ปัญหาเส้นผมและหนังศีรษะเราได้อย่างไร ในบทความนี้คุณหมอจะขออธิบายถึง PRF ให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ ค่ะ
PRF ผม คืออะไร
PRF ผม (Platelet Rich Fibrin) คือหนึ่งในเทคนิคทางการแพทย์ เพื่อรักษาปัญหาทางเส้นผมและหนังศีรษะโดยการใช้สิ่งที่ผู้เข้ารับบริการมีอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ ‘เลือด’ ของตนเอง แต่ก่อนจะนำเลือดมาใช้จะต้องผ่านกระบวนการแยกส่วนประกอบของเลือดเสียก่อน สำหรับเทคนิค PRF จะใช้การปั่นแยกด้วยความเร็วต่ำ ทำให้ได้องค์ประกอบสำคัญอย่างเกล็ดเลือด สเต็มเซลล์ เม็ดเลือดขาวที่เข้มข้นกว่าเพื่อนำไปใช้บำรุง ซ่อมแซมเซลล์รากผมให้แข็งแรงขึ้น
การสร้าง PRF จากเลือด
สาเหตุที่เทคนิค PRF ผม สามารถให้องค์ประกอบสำคัญอย่างเกล็ดเลือด สเต็มเซลล์ และเม็ดเลือดขาวที่เข้มข้นได้ เนื่องจากการปั่นแยกด้วยความเร็วต่ำนั้นจะทำให้เลือดที่เป็นวัตถุดิบถูกแยกออกเป็น 3 ชั้น คือ
- ชั้นที่ตกตะกอนล่างสุดคือส่วนที่ประกอบไปด้วยเซลล์เม็ดเลือดแดง
- ชั้นที่อยู่บนสุดคือชั้นของพลาสมา หรือที่เรียกกันว่าน้ำเลือด
- ชั้นตรงกลางจะเป็นชั้นที่ประกอบไปด้วย ‘ไฟบริน’ ซึ่งเป็นโปรตีนเส้นใยที่พบในเลือด ในส่วนนี้จะกักเก็บเกล็ดเลือด สเต็มเซลล์ เม็ดเลือดขาวในปริมาณมาก ไฟบรินจะค่อย ๆ ปลดปล่อย Growth Factor ซึ่งมีความสำคัญในการซ่อมแซมเซลล์รากผม และกระตุ้นให้เกิดการงอกใหม่ของเส้นผม
โดยการทำ PRF นั้นจะต้องไม่ใช้สารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด เพื่อให้ขณะปั่นแยกนั้นสามารถเกิดเป็นโครงตาข่ายของไฟบริน (PRF matrix) ได้ แต่เนื่องจากเลือดมักจะจับตัวกันเป็นก้อนแทบจะทันทีเมื่อถูกเจาะออกมาจากร่างกาย จึงทำให้การทำ PRF นั้นจำเป็นจะต้องนำเลือดที่เก็บมาเข้าสู่กระบวนการปั่นแยกทันที
ข้อดีของการทำ PRF ผม
ไปดูกันค่ะว่าการทำ PRF ผมมีข้อดีอย่างไรที่น่าสนใจบ้าง
- ในกระบวนการทำ PRF ผมจะใช้แรงเหวี่ยงสำหรับการปั่นแยกเซลล์ที่น้อยกว่า ทำให้องค์ประกอบที่ต้องการอย่างเกล็ดเลือดเสียหายน้อย
- การทำ PRF จะได้ไฟบริน ซึ่งเป็นกลุ่มเส้นใยที่อุดมไปด้วยเกล็ดเลือด เม็ดเลือดขาว และสเต็มเซลล์ ที่เป็น Growth Factor ช่วยในการซ่อมแซมและกระตุ้นให้เซลล์รากผมงอกใหม่อย่างแข็งแรงขึ้น
- การปลดปล่อย Growth Factor ของไฟบรินจะถูกปล่อยในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้การฉีด PRF ผมสามารถคงคุณสมบัติได้นานขึ้น
- การทำ PRF จะให้ความเข้มข้นของสารสำคัญต่อเซลล์รากผมสูง
- การทำ PRF ผมสามารถเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้เข้ารับบริการในปริมาณน้อย
ใครเหมาะกับการทำ PRF ผมบ้าง
ในปัจจุบันมีวิธีแก้ปัญหาผมร่วงผมบางอยู่หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นวิธีตามธรรมชาติที่ค่อย ๆ ฟื้นฟูบำรุงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือวิธีทางการแพทย์ที่เข้าไปแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ให้ผลการรักษาที่เร็วกว่า สำหรับการรักษาด้วย PRF ผมนั้นก็เป็นอีกวิธีทางการแพทย์ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาเส้นผมได้ค่ะ แต่ไม่ใช่ว่าการทำ PRF จะช่วยแก้ปัญหาผมร่วง ผมบางได้ทุกแบบ ไปดูกันว่าใครเหมาะกับการทำ PRF ผมบ้าง
1. ผู้ที่มีภาวะผมร่วง ผมบางตามกรรมพันธุ์
ผมร่วง ผมบางที่มาจากกรรมพันธุ์เป็นเรื่องยากในการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น แต่หากอาการผมร่วง ผมบางยังไม่รุนแรงมากนัก และยังมีเซลล์รากผมเหลืออยู่ก็สามารถใช้การบำรุงผมด้วย PRF ผมได้เลย
2. ผู้ที่มีภาวะผมร่วง ผมบางจากอายุ
เช่นเดียวกับผมร่วง ผมบางกรรมพันธุ์ เมื่ออายุมากขึ้นเซลล์รากผมจะเริ่มอ่อนแอลง และทำให้ผมขาดหลุดร่วงง่ายกว่าตอนยังอายุน้อย สามารถใช้การทำ PRF ผมเพื่อให้เข้าไปบำรุงเซลล์รากผมและกระตุ้นการสร้างเส้นผมใหม่ค่ะ
3. ผู้ที่มีภาวะผมร่วง ผมบางจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
สำหรับอาการผมร่วง ผมบางจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ดูแลเส้นผมและหนังศีรษะไม่เหมาะสม ความเครียด สามารถทำให้เซลล์รากผมอ่อนแอลงได้ คุณสามารถปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมไปพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูเซลล์รากผมใหม่ด้วยการทำ PRF ผมค่ะ
4. ผู้ที่มีภาวะผมร่วง ผมบางจากโรคบางอย่าง
ยกตัวอย่างเช่น ผมร่วงเป็นหย่อม หรือได้รับผลกระทบจากอาการป่วยอย่างอื่น เช่น ผมร่วงหลังผ่าตัด หากยังมีเซลล์รากผมอยู่ก็สามารถใช้ PRF ผมได้เลยค่ะ
โดยผู้ที่ทำ PRF ผมได้จะต้องมีเซลล์รากผมที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น หากไม่มีเซลล์รากผมเหลืออยู่ PRF ก็ไม่สามารถเข้าไปกระตุ้นหรือสร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่ได้ค่ะ และการทำ PRF ผมเหมาะกับผู้ที่มีปัญหาเส้นผมหลุดร่วงที่ไม่มากนัก หากมีอาการผมร่วงมากอาจแนะนำให้รักษาวิธีอื่นควบคู่กันไปด้วย
PRP ผม VS PRF ผม
เชื่อว่าหลายคนอาจยังสับสนระหว่าง PRP ผมกับ PRF ผมคืออันเดียวกันหรือไม่ ถ้าต่างกันแล้วมันต่างกันอย่างไร คุณหมอขอแยกประเด็นความเหมือนและความต่างกัน ดังนี้
1. PRP ผม และ PRF ผม เหมือนกันอย่างไร
- ทั้ง PRP และ PRF ผม เป็นวิธีการซ่อมแซมเซลล์รากผม และกระตุ้นให้เกิดการงอกของเส้นผมใหม่ด้วยเลือดของผู้เข้ารับบริการเองเหมือนกัน
- ทั้ง PRP และ PRF ผม ต่างก็ใช้วิธีการปั่นแยกด้วยความเร็วเพื่อแยกองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับซ่อมแซมผมเช่นเดียวกัน
2. PRP ผม และ PRF ผม แตกต่างกันอย่างไร
- PRP ผมมีการเติมสารอื่นนอกจากเลือด เช่น สารยับยั้งการแข็งตัวของเลือด หรือสารกระตุ้นเกล็ดเลือด ในขณะที่ PRF ผมจะไม่มีการเติมสารใด ๆ เลย
- PRP ผมจะปั่นแยกองค์ประกอบเลือดด้วยความเร็วสูงและเก็บพลาสมาซึ่งเป็นส่วนที่มีเกล็ดเลือดไปใช้ ในขณะที่ PRF ผมจะปั่นแยกด้วยความเร็วต่ำ ทำให้เกิดไฟบรินและเก็บส่วนนี้ไปใช้
- PRP ผมจะออกฤทธิ์และปลดปล่อย Growth Factor ออกมาทันทีหลังฉีด แต่ PRF ผมจะค่อย ๆ ออกฤทธิ์และปล่อย Growth Factor ออกอย่างช้า ๆ ทำให้สามารถอยู่ได้นานกว่า
- สำหรับการเก็บตัวอย่างเลือด PRP จะใช้ปริมาณที่มากกว่า PRF
แนะนำวิธีแก้ปัญหาผมร่วง ผมบาง อื่น ๆ
การทำ PRF ผมช่วยแก้ปัญหาผมร่วง ผมบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะเห็นผลได้ดีกว่าเดิมคุณหมอแนะนำให้ใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อแก้ปัญหาผมร่วง ผมบางควบคู่กันไปด้วยค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
- การรับประทานอาหารบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการทำร้ายเส้นผมรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะการตากแดดนาน ๆ การทำสารเคมีกับผมบ่อย ๆ หรือการมัดผมแน่นจนเกินไป เป็นต้น
- ดูแลความสะอาดของเส้นผมอย่างเหมาะสม ไม่สระผมบ่อยไป หรือไม่ไม่สระผมเลย
แต่สำหรับผู้ที่มีอาการผมร่วง ผมบางที่ลองรักษาด้วย PRF ผมก็ยังไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยวิธีแก้ผมร่วงทางการแพทย์อื่น ๆ เช่น
- การฉีดสเต็มเซลล์ผม
- การทำเลเซอร์ LLLT
- การปลูกผม FUE, FUT
Dr. Tarinee Hair Clinic ผู้เชี่ยวชาญด้าน PRF ผม
การทำ PRF ผมเป็นอีกทางเลือกในการรักษาภาวะผมร่วง ผมบาง ให้เซลล์รากผมกลับมาแข็งแรง สุขภาพดีขึ้น สามารถเข้ามาทำ PRF ได้เรื่อย ๆ เพื่อคงความแข็งแรงของเส้นผมและหนังศีรษะค่ะ
ที่ Dr.Tarinee Hair Clinic คลินิกปลูกผม รักษาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านแบบครบวงจร โดยแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผมและหนังศีรษะ คุณหมอพร้อมดูแลผู้เข้ารับบริการเองทุกเคส เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการได้รับการรักษาและการปฏิบัติอย่างเหมาะสมที่สุดค่ะ
สนใจปรึกษาปัญหาผมร่วง ผมบางกับคุณหมอแก้วที่ Dr.Tarinee Hair Clinic สามารถติดต่อได้ตามช่องทางนี้ค่ะ
- Dr.Tarinee Hair Clinic
- Line : @drtarinee
- Facebook : Dr.Tarinee Hair Clinic ปลูกผม รักษา ผมร่วง ผมบาง
ขอบคุณข้อมูลจาก
Naik, B., Karunakar, P., Jayadev, M., & Marshal, V. R. (2013). Role of Platelet rich fibrin in wound healing: A critical review. Journal of conservative dentistry : JCD, 16(4), 284–293. https://doi.org/10.4103/0972-0707.114344
Platelet-Rich Fibrin ‘PRF’. (n.d.). my cosmetic clinic. https://mycosmeticclinic.net/prf-platelet-rich-fibrin/
Saluja, H., Dehane, V., & Mahindra, U. (2011). Platelet-Rich fibrin: A second generation platelet concentrate and a new friend of oral and maxillofacial surgeons. Annals of maxillofacial surgery, 1(1), 53–57. https://doi.org/10.4103/2231-0746.83158