รากผมฝ่อ

ปัญหาผมร่วง ผมบาง หนังศีรษะล้าน ถือเป็นปัญหาที่ทำให้หลายคนหนักใจอยู่เสมอ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ก็คือ “รากผมไม่แข็งแรง” หรือที่เราเรียกว่า “รากผมฝ่อ” นั่นเอง วันนี้เราจึงจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับปัญหารากผมฝ่อกันว่าจริง ๆ แล้วเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือจะมีวิธีทำให้รากผมแข็งแรงกว่าเดิมได้หรือไม่ พร้อมแล้วก็ตามมาอ่านไปพร้อม ๆ กันได้เลย

รากผม (Hair follicle) คืออะไร

รากผม
รากผม

รากผม หมายถึงส่วนประกอบที่สำคัญอย่างมากของเส้นผม โดยจะอยู่ฝังลึกอยู่ในรูขุมขนใต้ผิวหนังศีรษะ หยั่งลึกตั้งแต่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ไปจนถึงชั้นหนังแท้ (Dermis) หรืออาจลึกถึงเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง (Subcutaneous Tissue) เลยก็ได้ โดย 1 รากผมนั้นจะมีต่อมรากผม หรือ Hair Follicle มากถึง 5 ล้านต่อม เพื่ออำนวยการแบ่งเซลล์ให้เส้นผมได้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาเป็นเส้นผมที่แข็งแรง ยิ่งรากผมแข็งแรงมากเท่าไหร่ สุขภาพเส้นผมของคุณก็จะแข็งแรงมากเท่านั้น 

สรุปสั้น ๆ ได้ว่ารากผมนั้นมีหน้าที่สำคัญอย่างมากในการสร้างเส้นผม เราจึงจำเป็นต้องดูแลรักษารากผมให้แข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ให้เกิดปัญหารากผมฝ่อ จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะต่าง ๆ ในอนาคต 

โครงสร้างเส้นผมกับรากผม 

โครงสร้างของรากผมฝ่อ
โครงสร้างของรากผมฝ่อ

เส้นผม หมายถึง เส้นขนที่งอกออกมาจากรูขุมขนทำหน้าที่ในการปกคลุมหนังศีรษะของมนุษย์ สามารถแบ่งออกเป็นได้ 2 ส่วนด้วยกัน คือ เส้นผม (Hair Shaft) หรือส่วนที่งอกออกมาเหนือหนังศีรษะ และรากผม (Hair Root/Hair Follicle) ส่วนที่อยู่ลึกลงไปใต้หนังศีรษะ 

  • เส้นผม (Hair Shaft)

เกิดจากการทับถมของเซลล์ที่ตายแล้ว ประกอบไปด้วยกรดอะมิโนและแร่ธาตุชนิดต่าง ๆ โดยเส้นผม (Hair Shaft) จะมีอยู่ 3 ส่วน ได้แก่

  1. เกล็ดผม (Cuticle) อยู่ชั้นนอกสุดของเส้นผม ทำหน้าที่ปกป้องเนื้อผมจากมลภาวะต่าง ๆ ผมจะสุขภาพดีได้นั้น ขึ้นอยู่กับเกล็ดผมว่ามีสภาพที่สมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน ยิ่งเกล็ดผมแข็งแรงมาก เส้นผมก็ยิ่งสุขภาพดี นุ่มลื่นเงางาม ไม่ชี้ฟู หรือแห้งเสีย
  2. เนื้อผม (Cortex) หมายถึงสิ่งที่อยู่ใต้เกล็ดผมลงมา ถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เนื่องจากประกอบไปด้วยเส้นใยเคราตินมากมาย เกาะกันเป็น Membrane Complex และยังมีเม็ดสีเมลานีเกาะกลุ่มกันอยู่เพื่อเป็นตัวกำหนดสีผมของแต่ละคนอีกด้วย ขณะเดียวกันหากเนื้อผมถูกทำลาย จะส่งผลให้เส้นผมอ่อนแอ เปราะบาง และแตกปลายได้
  3. แกนผม (Medulla) ส่วนที่อยู่ใจกลางของเส้นผม มีลักษณะเป็นรูกลวง ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่สำคัญ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เส้นผมสุขภาพดีมาก ๆ ก็จะทำให้รูกลวงนี้ขยายใหญ่ และทำให้เส้นผมดูหนาตาขึ้นได้
  • รากผม (Hair Root/Hair Follicle)

ส่วนที่ฝังอยู่ใต้หนังศีรษะ มีบทบาทสำคัญในการเจริญเติบโตของเส้นผม ซึ่งรากผมจะมีอยู่ 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ต่อมรากผม (Hair Follicle) ลักษณะเป็นทรงกระบอกคล้ายหลอดปากแคบ และส่วนของกระเปาะผม (Hair Bulb) ที่มีลักษณะโป่งเป็นกระเปาะ มีปลายแหลมเรียกว่าปุ่มปลายแหลม (Papilla) ที่ภายในเต็มไปด้วยเส้นเลือดและสารอาหารคอยหล่อเลี้ยงในการเจริญเติบโตของเส้นผม ขณะเดียวกันบริเวณรากผมยังเกี่ยวพันกับต่อมน้ำมัน (Sebaceous Gland) ที่ทำหน้าที่สร้างน้ำมัน เพื่อช่วยให้เส้นผมมีความอ่อนนุ่ม และเงางามร่วมด้วย

ลักษณะของรากผมฝ่อ เป็นอย่างไร

ลักษณะรากผมฝ่อ
ลักษณะรากผมฝ่อ

การสังเกตตัวเองว่ากำลังเผชิญกับปัญหารากผมฝ่อ หรือรากผมไม่แข็งแรงอยู่หรือไม่นั้น สามารถสังเกตได้จากเส้นผมที่มีขนาดเล็ก บาง เปราะบางขาดหลุดร่วงได้ง่าย ไม่ว่าจะเพียงแค่สระผม หวีผม สางผม ก็มีเส้นผมติดมือ ติดหวีออกมามากกว่าปกติ ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ ก็สันนิษฐานได้เลยว่าคุณอาจกำลังเผชิญกับปัญหารากผมไม่แข็งแรงอยู่ก็เป็นได้นั่นเอง 

รากผมฝ่อ เกิดจากอะไร

สาเหตุรากผมฝ่อ
สาเหตุรากผมฝ่อ

ปัญหารากผมฝ่อ รากผมไม่แข็งแรงสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้ 

1. รากผมฝ่อ จากฮอร์โมน

ฮอร์โมนบางชนิดก็สามารถส่งผลเสียทำให้เกิดปัญหารากผมฝ่อได้ เช่น ฮอร์โมน DHT หรือ Dihydrotestosterone ที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้ชาย ซึ่งถ้าหากมีปริมาณฮอร์โมนชนิดนี้มากเกินไป อาจทำให้รากผมเกิดการอ่อนแอ เส้นผมที่กำลังจะขึ้นใหม่ก็อ่อนแอ มีเส้นผมที่ขนาดเล็กและบาง พาให้หลุดร่วงได้ง่ายตามไปด้วย ตามมาด้วยผมบางศีรษะล้าน 

2. รากผมฝ่อ จากอายุที่เพิ่มขึ้น

เมื่ออายุมากขึ้น เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายก็เริ่มทำงานถดถอยลง และหนึ่งในนั้นก็คือเซลล์รากผม ที่อาจมีการผลิตน้อยลง มีขนาดที่เล็กลง หรือเสื่อมสภาพลงจนส่งผลเสียทำให้รากผมฝ่อ รากผมไม่แข็งแรง จนเกิดเป็นปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะ เช่น ผมร่วง ผมบาง ได้ในที่สุด

3. รากผมฝ่อ จากกรรมพันธุ์

หากใครที่คนในครอบครัวเคยมีประวัติเส้นผมเล็ก บาง หลุดร่วงง่าย หรือเคยมีประวัติผมบาง หัวล้านมาก่อน ลูกหลานในอนาคต หรือแม้แต่ตัวคุณในปัจจุบันก็อาจจะต้องเผชิญกับปัญหารากผมฝ่อ รากผมไม่แข็งแรงได้เช่นกัน 

4. รากผมฝ่อ จากการเจ็บป่วย

โรคภัยไข้เจ็บบางชนิดสามารถส่งผลให้เกิดปัญหารากผมฝ่อ รากผมไม่แข็งแรงได้ เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อม โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคโลหิตจาง ซึ่งอาจเกิดปัญหารากผมฝ่อได้ทั้งแบบเฉพาะบริเวณ หรืออาจเกิดขึ้นทั่วศีรษะ โดยจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล 

5. รากผมฝ่อ จากสารเคมี

การให้เส้นผมและหนังศีรษะเผชิญกับสารเคมีอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะจากการสระผม ยืดผม ดัดผม หรือทำสีผมก็ล้วนแล้วแต่จะส่งผลให้รากผมที่เคยแข็งแรงกลายเป็นรากผมฝ่อในอนาคตได้ รวมถึงความร้อนจากอุปกรณ์ทำผมต่าง ๆ เช่น ไดร์เป่าผม ที่หนีบผม ก็อาจส่งผลเสียต่อรากผมได้เช่นกัน

รากผมฝ่อ ต้นตอทำให้ผมร่วง

ผมร่วงเพราะรากผมฝ่อ
ผมร่วงเพราะรากผมฝ่อ

สำหรับปัญหาผมร่วง รากผมฝ่อถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวก็ว่าได้ เพราะถ้าเมื่อไหร่รากผมเกิดอ่อนแอ หรือเกิดอาการที่เรียกว่ารากผมฝ่อ มีสารอาหารหรือเลือดมาเลี้ยงปุ่มรากผมต่าง ๆ ลดน้อยลงแล้ว รากผมก็จะค่อย ๆ ฝ่อตัวลง หรือหยุดการทำงาน ไม่สร้างเส้นผมชุดใหม่ขึ้นมา แถมยังทำให้เส้นผมชุดเก่าอ่อนแอตามไปด้วย ทำให้เกิดปัญหาเส้นผมขาดหลุดร่วงได้ในที่สุด หรืออาจรุนแรงจนถึงขั้นศีรษะบาง หัวล้านรักษายากเลยทีเดียว 

วิธีรักษารากผมฝ่อ

วิธีรักษารากผมฝ่อ
วิธีรักษารากผมฝ่อ

1. ดูแลความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะให้ถูกวิธี

วิธีทำให้รากผมแข็งแรงอันดับแรกเลยก็คือเรื่องความสะอาด ที่เราควรทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการอุดตันของสิ่งสกปรกต่าง ๆ ในรูขุมขนและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรืออักเสบในอนาคตจนพาให้รากผมฝ่อ รากผมไม่แข็งแรงได้ และควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะสูตรอ่อนโยน เพื่อป้องกันอาการระคายเคืองหนังศีรษะ เสี่ยงผมร่วง ผมบางในอนาคตร่วมด้วย 

2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จำพวกโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ให้เพียงพอในแต่ละวันนั้นไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย ยังส่งผลดีต่อสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะด้วยเช่นกัน ถ้าหากมีสารอาหารมากพอ รากผมก็จะคอยลำเลียงและแบ่งเซลล์รากผมทำให้เส้นผมชุดใหม่แข็งแรงมากยิ่งขึ้นได้

3. มองหาอาหารเสริมบำรุงผม วิตามินบำรุงผม

ถ้าหากคุณรู้สึกว่าสารอาหารที่ได้รับในแต่ละวันนั้นยังไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม การเลือกรับประทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงผม หรือวิตามินบำรุงผมก็ถือเป็นวิธีรักษารากผมฝ่อได้น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะกลุ่ม Biotin และ Zinc ที่มีคุณสมบัติช่วยดูแลปัญหาโครงสร้างเส้นผมให้แข็งแรง

4. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมทำร้ายรากผม

พฤติกรรมที่เสี่ยงทำร้ายรากผมนั้นมีอยู่มากมาย คุณอาจจะทำโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ เช่น การหวี สาง สระ มัด ดึงผมแรง ๆ หรือแม้แต่การใช้สารเคมีเพื่อดัดผม ยืดผม ทำสีผม ทำให้การกระทบกระเทือนต่อรากผม อาจทำให้รากผมเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ และอ่อนแอ หรือเกิดภาวะรากผมฝ่อในที่สุดได้

5. ฉีด PRP

PRP หรือ Platelet Rich Plasma เป็นหัตถการทางการแพทย์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในการทำมารักษาปัญหารากผมฝ่อ โดยจะเป็นการนำเลือดของผู้รับบริการไปแยกเป็นเกล็ดเลือดเข้มข้นที่อุดมไปด้วยสารอาหารและ Growth Factor หลากหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม นำมาฉีดบริเวณหนังศีรษะที่มีปัญหา หรือฉีดทั่วหนังศีรษะ เพื่อเป็นวิธีกระตุ้นรากผมให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น 

หากดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นแล้วยังไม่ดีขึ้น ผมยังฝ่อ ดูบาง แนะนำให้ตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผม หรือแพทย์ผิวหนัง เพื่อรับการรักษาให้ตรงจุด

สำหรับผู้ที่กำลังหนักใจหาวิธีแก้ผมร่วงไม่ได้สักที หรือกำลังเผชิญกับปัญหาผมร่วง ลองศึกษาบทความดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ : วิธีแก้ผมร่วง

สรุปปัญหารากผมฝ่อ

รากผมถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างเส้นผมเป็นอย่างมาก ถ้าหากอยากได้สุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะที่แข็งแรง ห่างไกลปัญหารากผมฝ่อ ปัญหาผมร่วง ผมบางแล้วล่ะก็ ควรดูแลใส่ใจสุขภาพรากผมให้แข็งแรงอยู่เสมอ ซึ่งถ้าใครไม่รู้จะเริ่มการดูแลอย่างไร หรือกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะบางประการที่มีสาเหตุมาจากรากผมฝ่ออยู่ ก็ขอแนะนำให้ปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพื่อรับการวินิจฉัยถึงสาเหตุและรับคำแนะนำแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป โดยสามารถปรึกษาหมอแก้วได้ที่ Dr.Tarinee Hair Clinic
โทร 0889519193

Reference

Hair follicle: anatomy and function | Kenhub

Anatomy, Hair Follicle – StatPearls – NCBI Bookshelf (nih.gov)