หลายคนคงมีความเชื่อที่ว่าทานผงชูรสแล้วทำให้ผมร่วง แม้แต่คุณที่กำลังอ่านบทความนี้ก็อาจเชื่อจริง ๆ ว่าผงชูรสสามารถทำให้ผมร่วงได้จริง แล้วสรุปว่ากินผงชูรสเยอะผมร่วงจริงไหม ในบทความนี้คุณหมอจะมาเฉลยพร้อมกับสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ผมร่วง รวมไปถึงวิธีรักษาผมร่วงค่ะ
ผงชูรส คืออะไร มีสารทำให้ผมร่วงไหม
ก่อนที่คุณหมอจะตอบคำถามว่ากินผงชูรสเยอะผมร่วงจริงไหม เราไปทำความรู้จักกับผงชูรสกันก่อนดีกว่าค่ะว่าผงชูรสคืออะไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง มีสารอะไรที่อาจทำให้ผมร่วงหรือเปล่า
ผงชูรส หรือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) เป็นเครื่องปรุงที่ทำให้อาหารมีรสชาติกลมกล่อม นิยมนำมาใช้ปรุงอาหารคาวได้ทุกชนิด โดยผงชูรสนั้นมาจากกรดกลูตามิกที่อยู่ในรูปของเกลือซึ่งเป็นกรดอะมิโนตัวหนึ่งที่พบได้ในโปรตีนจากพืชและสัตว์ค่ะ
ผงชูรสในปัจจุบันนั้นได้มาจากการแปรรูปมาจากแป้งมันสำปะหลัง และผ่านกระบวนการทางเคมีจนได้ออกมาในรูปผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจสงสัยว่า ถ้าผงชูรสไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แล้วทำไมผงชูรสจึงทำให้รสชาติอาหารดีขึ้นได้?
สาเหตุมาจากผงชูรสสามารถกระตุ้นต่อมรับรสที่ลิ้นของเราให้ขยายตัวมากขึ้น เมื่อต่อมรับรสขยายตัวจึงสามารถรับรสได้มากกว่าปกติค่ะ เวลาเรารับประทานอาหารเข้าไปก็จะช่วยให้เรารู้สึกถึงรสชาติมากขึ้น นานขึ้น เราจึงรู้สึกอร่อยขึ้นนั่นเอง ซึ่งในองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) จัดให้ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมตเป็นสารปลอดภัย สามารถนำมาปรุงอาหารเพื่อรับประทานได้
แต่เพราะผงชูรสไปทำให้ต่อมรับรสขยายตัวเราจึงรู้สึกกระหายน้ำเมื่อรับประทานผงชูรสเข้าไปมาก ๆ อีกทั้งยังมีผู้ที่รับประทานอาหารที่มีผงชูรสเป็นส่วนประกอบในปริมาณมากและเกิดผลข้างเคียงตามมา เช่น กินผงชูรสเยอะแล้วผมร่วง หน้าบวม ปวดศีรษะ แน่นหน้าอก แต่ในความจริงแล้วเป็นเพราะผงชูรสโดยตรงหรือไม่ ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ เพราะในอาหารมีส่วนประกอบอื่น ๆ นอกจากผงชูรสค่ะ
กินผงชูรสเยอะ ทำให้ผมร่วงจริงไหม
สำหรับคำถามที่หลายคนสงสัยว่ากินผงชูรสเยอะผมร่วงจริงไหม ในตอนนี้คุณหมอตอบได้แค่ว่าเนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยหรือวารสารทางการแพทย์ใด ๆ ออกมาสรุปว่าการกินผงชูรสเยอะสัมพันธ์กับอาการผมร่วงโดยตรง ดังนั้นการกินผงชูรสเยอะจึงไม่ได้ทำให้ผมร่วงค่ะ
แต่ถึงแม้ว่าการกินผงชูรสไม่สัมพันธ์กับผมร่วง แต่การรับประทานผงชูรสเยอะนั้นก็ไม่ได้ส่งผลที่ดีให้กับร่างกายค่ะ นอกจากอาการกระหายน้ำที่เกิดขึ้นได้บ่อยเมื่อรับประทานผงชูรสแล้ว ผงชูรสยังทำให้เราได้รับโซเดียมมากเกินไป และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ มากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง บวมโซเดียม และเพิ่มโอกาสเกิดโรคไตและโรคหัวใจค่ะ
ดังนั้นสิ่งที่ต้องพึงระวังในการกินผงชูรสเยอะไม่ใช่อาการผมร่วง แต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคอันตรายอย่างโรคไตและโรคหัวใจค่ะ อีกทั้งผงชูรสยังทำให้เกิดอาการแพ้ในบางรายได้ เช่น ใบหน้าบวม ปวดศีรษะ มีอาการชาบริเวณใบหน้า และในผู้ที่แพ้ผงชูรสมากอาจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจไม่ออก คอบวม และนำไปสู่ภาวะช็อกได้ค่ะ
ข้อเท็จจริง “ผมร่วง” เกิดจากสาเหตุอะไร
เมื่อทราบกันไปแล้วว่าผงชูรสไม่ได้ทำให้ผมร่วง แล้วตกลงว่าอาการผมร่วงเกิดจากอะไรกันแน่? คุณหมอได้รวบรวมปัจจัยที่สามารถทำให้เกิดอาการผมร่วงมาไว้ในหัวข้อนี้แล้วค่ะ
1.กรรมพันธุ์
สังเกตได้ว่าหากพ่อแม่ผมบาง ร่วงง่าย ลูกที่เกิดมาก็มักจะได้ลักษณะแบบนี้มาเช่นกัน เนื่องจากบนโครโมโซม X จะมียีนที่ส่งผลให้เกิดลักษณะผมบาง ผมร่วงง่ายอยู่ ถ้าหากแม่ที่มียีน XX มีลักษณะผมบาง ผมร่วง ลูกก็มีโอกาสที่จะได้รับพันธุกรรมแบบนี้มาค่ะ ยิ่งถ้าหากเป็นลูกชายที่มีโครโมโซม XY แล้ว เพียงแค่มีโครโมโซม X ที่มีลักษณะผมบาง ผมร่วงมาจากแม่เพียงตัวเดียวก็สามารถแสดงลักษณะผมร่วง ผมบางได้ทันทีค่ะ
2.ฮอร์โมน
อีกสาเหตุหลัก ๆ ของอาการผมร่วงคือฮอร์โมนค่ะ โดยเฉพาะฮอร์โมน DHT หรือ ไดไอโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) ที่พบในเพศชาย โดยฮอร์โมนตัวนี้จะไปทำให้ระยะเจริญเติบโตวงจรชีวิตของเส้นผมสั้นลง และนำมาสู่ระยะพักนานขึ้น ทำให้เส้นผมร่วงเร็ว และงอกขึ้นใหม่ช้าค่ะ
3.ความเครียด
ความเครียดเป็นสาเหตุที่นำมาสู่ความผิดปกติของระบบร่างกายค่ะ เมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติขึ้นมักส่งผลต่อสุขภาพหลายประการ เช่น มีอาการปวดศีรษะ ฮอร์โมนแปรปรวน ระบบย่อยอาหารแย่ลง ระบบไหลเวียนเลือดไม่ดี ซึ่งไปทำให้เซลล์รากผมได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และส่งผลให้เซลล์รากผมอ่อนแอและฝ่อลงจนเกิดภาวะผมร่วงค่ะ
อีกทั้งอาการเครียดยังทำให้เกิดอาการทางจิต เช่น โรคดึงผม (Trichofillomania) ที่ผู้ป่วยมักจะดึงผมตัวเองเมื่อเกิดความเครียดค่ะ
4.โรค
โรคก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดผมร่วงได้ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นผมและหนังศีรษะโดยตรง เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อม โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ โรคผมร่วงทั่วศีรษะ เป็นต้น หรือเป็นอาการข้างเคียงจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคไทรอยด์ เป็นต้น
5.อายุ
วงจรชีวิตของเส้นผมนั้นจะมีระยะเจริญเติบโตนานที่สุดในช่วงวัยเด็ก และเมื่ออายุมากขึ้นวงจรชีวิตของเส้นผมนั้นก็จะสั้นลงเรื่อย ๆ ค่ะ ดังนั้นยิ่งอายุมากขึ้นผมจึงร่วงเร็วและงอกขึ้นใหม่ช้าลงนั่นเอง
อีกทั้งอายุยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อความแข็งแรงเป็นปกติของระบบในร่างกายด้วย เมื่ออายุมากขึ้นระบบต่าง ๆ ก็เริ่มเสื่อมลง ทำให้รากผมอ่อนแอและฝ่อลงไปค่ะ
6.หนังศีรษะอักเสบ
หนังศีรษะอักเสบ หรือเซ็บเดิร์ม เป็นอาการหนังศีรษะชั้นนอกอักเสบ เป็นผื่นแดง และทำให้หนังศีรษะลอกออกคล้ายกับรังแค โดยมักจะเกิดจากที่หนังศีรษะมันเป็นแหล่งอาการชั้นดีของเชื้อราก่อโรคค่ะ เมื่อเกิดการอักเสบขึ้นจะทำให้รากผมอ่อนแอและเกิดผมร่วงได้
7.ขาดสารอาหาร
เซลล์รากผมจำเป็นต้องใช้สารอาหารในการเจริญเติบโตค่ะ แต่หากร่างกายของเราขาดสารอาหาร ไม่ว่าจะเป็นเพราะอาการป่วยหรือการลดน้ำหนักก็สามารถทำให้ร่างกายมีสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์รากผมไม่เพียงพอ เซลล์รากผมจึงอ่อนแอละทำให้ผมร่วงง่ายขึ้น
8.ผลข้างเคียงจากยา
มียาหลายตัวที่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างอาการผมร่วง เช่น ยาต้านเศร้า ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาคุมกำเนิด ยาฮอร์โมน เป็นต้น แต่อาการผมร่วงจากผลข้างเคียงของยานั้นมักจะหายได้เองเมื่อหยุดยาค่ะ
9.กิจวัตรประจำวัน
มีกิจวัตรประจำวันหลายอย่างที่เป็นการทำร้ายเซลล์รากผมให้อ่อนแอลง เช่น การสูบบุหรี่ การให้เส้นผมและหนังศีรษะถูกความร้อนมากเกินไปทั้งจากเครื่องเป่าผม เครื่องหนีบผม หรือการตากแดดนาน ๆ การจัดแต่งทรงผมด้วยสารเคมี การย้อมสีผม หรือแม้แต่การมัดผมแน่นจนเกินไปก็ส่งผลให้เกิดอาการผมร่วงได้เช่นกัน
บทความเพิ่มเติม : สาเหตุผมร่วงในผู้หญิง และ สาเหตุผมร่วงในผู้ชาย
แชร์วิธีแก้ปัญหาผมร่วง
หลายคนที่คิดว่าผงชูรสเป็นตัวการของผมร่วง ก็อาจคิดว่าหากลดผงชูรสทำให้ผมร่วงน้อยลง ซึ่งอย่างที่คุณหมอได้กล่าวไปแล้วว่าผงชูรสไม่ได้ทำให้ผมร่วง การงดหรือลดผงชูรสจึงไม่ได้ช่วยให้ผมร่วงน้อยลงค่ะ แต่การงดหรือลดผงชูรสลงจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคอันตรายได้ ดังนั้นถึงแม้ว่าผงชูรสจะไม่เกี่ยวกับลดผมร่วง แต่หากลดการกินผงชูรสได้ก็จะดีต่อสุขภาพมากกว่าค่ะ
หากคุณมีปัญหาผมร่วง อยากจะกู้สุขภาพผมของตัวเอง ในหัวข้อนี้คุณหมอขอแชร์วิธีแก้ปัญหาผมร่วง ให้สุขภาพผมของคุณกลับมาดีขึ้นค่ะ
1.รับประทานอาหารบำรุงผม ป้องกันผมร่วง
เพื่อให้สุขภาพผมดีและแข็งแรงก็ควรจะเริ่มจากภายใน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะเป็นการแก้ผมร่วงด้วยวิธีธรรมชาติที่คุณสามารถทำได้ไม่ยากค่ะ ยกตัวอย่างอาหารที่ควรรับประทานเพื่อบำรุงเส้นผม ป้องกันผมร่วง เช่น อาหารที่มีโปรตีน ไบโอติน ซิงค์ โอเมก้า 3 วิตามิน เป็นต้น
2.ใช้ยาแก้ผมร่วง
ยาแก้ผมร่วงสามารถช่วยรักษาอาการผมร่วงในระยะแรก ๆ ค่ะ หากใครรู้ตัวว่าเริ่มผมร่วงแล้วสามารถใช้ยาแก้ผมร่วงเพื่อแก้ไขปัญหาได้ค่ะ แต่อย่างไรก็ตามปัญหาผมร่วงนั้นเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ และยาแก้ผมร่วงก็มีหลายชนิด การเลือกใช้ยาแก้ผมร่วงจึงควรให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาจะช่วยให้การรักษาผมร่วงนั้นได้ประสิทธิภาพกว่า เพราะแพทย์จะหาสาเหตุที่ทำให้คุณผมร่วงและจ่ายยาให้ตรงกับสาเหตุค่ะ
3.ใช้แชมพูให้ตรงกับสภาพเส้นผม ป้องกันผมร่วง
เพราะสภาพเส้นผมของแต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้นจึงมีแชมพูให้เลือกอยู่หลายสูตร คุณควรจะเลือกแชมพูให้ตรงกับสภาพเส้นผม และหากคุณมีปัญหาผมร่วงก็ควรจะเลือกแชมพูสูตรอ่อนโยน ลดผมร่วง เพราะในแชมพูกลุ่มนี้มักจะประกอบไปด้วยสารเคมีที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของผมร่วงค่อนข้างน้อย และมีการผสมสารอาหารที่ช่วยให้เส้นผมและหนังศีรษะแข็งแรงขึ้นอีกด้วยค่ะ
4.รักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าคุณลองแก้ไขปัญหาผมร่วงด้วยวิธีที่คุณหมอแนะนำตามข้างต้นแล้วไม่ได้ผลที่ดี ผมร่วงเหมือนเดิม อาจจำเป็นต้องเข้ามาให้คุณหมอตรวจประเมินปัญหาเส้นผมและหนังศีรษะของคุณเพื่อหาวิธีแก้ผมร่วงให้ตรงจุดค่ะ ที่ Dr.Tarinee Hair Clinic มีบริการรักษาผมร่วงหลายวิธี ดังนี้
- ปลูกผม FUE
ผู้ที่มีภาวะผมร่วงรุนแรง เซลล์รากผมถูกทำลายไปแล้วอาจใช้การบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะไม่ได้อีกต่อไป เพราะไม่มีเซลล์รากผมให้ดูแลแล้วนั่นเอง สิ่งที่สามารถทำได้คือการปลูกผม FUE ที่นำเซลล์รากผมจากบริเวณที่ยังมีการรวมตัวของเส้นผมย้ายมายังบริเวณที่มีปัญหาค่ะ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้ผมที่ปลูกถ่ายไปงอกขึ้นมาใหม่อย่างแข็งแรงและคงอยู่ถาวรค่ะ
แต่หากคุณยังมีเซลล์รากผมเหลืออยู่ แต่เซลล์รากผมอ่อนแอและทำให้ผมร่วงง่าย อาจใช้การให้สารอาหารเข้มข้นเพื่อซ่อมแซมเซลล์รากผมให้กลับมาแข็งแรงได้ค่ะ เช่น
- ฉีด PRP ผม
วิธีนี้จะเป็นการนำเลือดของผู้ที่เข้ารับบริการมาปั่นแยกเพื่อนำเกล็ดเลือดที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยให้เส้นผมเจริญเติบโตให้ได้ปริมาณหนึ่งและฉีดกลับเข้าไปบนหนังศีรษะ สารอาหารจากเกล็ดเลือดก็จะเข้าไปบำรุงเซลล์รากผมและทำให้ผมแข็งแรงขึ้น
- ฉีดสเต็มเซลล์ผม (Rigenera)
วิธีนี้จะคล้ายกับการ PRP ผมแต่เปลี่ยนจากการนำเลือดมาปั่นเป็นการนำสเต็มเซลล์จากรากผมที่ยังแข็งแรงอยู่มาสกัดด้วยเครื่องมือพิเศษและฉีดกลับลงไปใบบริเวณที่ต้องการ สเต็มเซลล์ที่ฉีดกลับเข้าไปจะซ่อมแซมเซลล์รากผมให้กลับมาแข็งแรงปกติอีกครั้ง
สรุปปัญหาผงชูรส ทำให้ผมร่วง
ในปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่าผงชูรสมีส่วนทำให้ผมร่วง แต่อย่างไรก็ตามการกินผงชูรสมากจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณสูง ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้การเกิดโรคอันตรายได้ในอนาคตค่ะ ดังนั้นถึงการลดผงชูรสจะไม่ได้ช่วยลดผมร่วง แต่ก็เป็นการลดโรคที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทานโซเดียมมากเกินไปนั่นเอง
แต่หากคุณเป็นผู้ที่มีปัญหาผมร่วง และอยากจะแก้ผมร่วง แนะนำให้เข้ามาปรึกษากับแพทย์เพื่อหาต้นตอที่ทำให้ผมร่วงและรับการรักษาที่ถูกต้องจะช่วยให้ผมของคุณกลับมาสุขภาพดีและแข็งแรงอีกครั้ง
สนใจขอคำปรึกษากับคุณหมอสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ช่องทางนี้ค่ะ
- Dr.Tarinee Hair Clinic
- Line : @drtarinee
- Facebook : Dr.Tarinee Hair Clinic ปลูกผม รักษา ผมร่วง ผมบาง