ไทรอยด์ทำให้เกิดผมร่วง
อาการผมร่วงอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากสาเหตุทางพันธุกรรม หรือฮอร์โมนเพียงอย่างเดียว ในบางครั้งอาการผมร่วงยังเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ อย่างโรคภัยไข้เจ็บได้อีกด้วย โรคไทรอยด์ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงได้จากอาการของโรค แล้วสงสัยกันไหมคะว่าโรคไทรอยด์คืออะไร มีความเกี่ยวข้องอย่างไรผมร่วง ผมบางได้บ้าง และหากไทรอยด์มีผลกระทบจนทำให้ผมร่วงจริง เราจะรักษาอาการผมร่วงที่เกิดขึ้นได้อย่างไร บทความนี้หมอมีคำตอบค่ะ
โรคไทรอยด์ มีกี่แบบ
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับอาการไทรอยด์ที่ทำให้เกิดผมร่วงนั้น เรามาทำความเข้าใจกันก่อนค่ะว่าโรคไทรอยด์นั้นเป็นอย่างไร และโรคไทรอยด์นั้นมีกี่แบบ
โรคไทรอยด์ (Thyroid) คือ โรคที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ภายในร่างกาย ซึ่งต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่อยู่บริเวณคอ มีหน้าที่ในการหลั่งฮอร์โมนสำหรับควบคุมการเผาผลาญพลังงานภายในร่างกายให้มีความสมดุล ไม่เกิดการหลั่งฮอร์โมนที่มากหรือน้อยเกินไป จนส่งผลเสียต่อการเผาผลาญพลังงาน รวมไปถึงการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย ซึ่งโรคไทรอยด์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการผมร่วงนั้น สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ไฮโปไทรอยด์
ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) หรือ ภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ เป็นโรคไทรอยด์ที่มีสาเหตุมาจากการผลิต หรือหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ในปริมาณที่ต่ำกว่าปกติ จึงส่งผลให้ระบบเผาผลาญภายในร่างกายทำงานได้ลดลง จึงส่งผลกระทบต่าง ๆ ต่อร่างกาย เช่น น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ เหนื่อยล้าง่าย ขี้หนาว ผิวแห้ง พูดช้า คิดช้า รวมไปถึงผมร่วงเป็นต้น โดยอาการที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของจากการทำงานที่น้อยลงของไทรอยด์จะค่อย ๆ แสดงอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้แสดงอาการแบบทันที
2. ไฮเปอร์ไทรอยด์
ไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) หรือที่เรียกว่าภาวะไทรอยด์เป็นพิษ เป็นโรคไทรอยด์ที่มีสาเหตุมาจากการทำงานที่มากเกินไปของต่อมไทรอยด์ ทำให้มีการผลิต การหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากผิดปกติ จึงทำให้มีการผลิตไทโรซีน (Tyrosine) และไทรไอโอโดไทโรนีน (Triiodothyronine) มามากจนเกินไป จนส่งผลเสียทำให้มีอาการอารมณ์แปรปรวนง่าย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ หัวใจเต้นผิดจังหวะ แขนขาอ่อนแรงและผอมลง นอกจากนี้ยังมีส่วนทำให้ผมร่วง เนื่องจากร่างกายขับไขมันออกทางรูขุมขนมากกว่าปกติ อาจทำให้เกิดการอุดตัน ผิวหนังหรือหนังศีรษะมัน รากผมอ่อนแอ จนผมร่วงในที่สุด
บทความเพิ่มเติม : สาเหตุผมร่วงในผู้หญิง และ สาเหตุผมร่วงในผู้ชาย
อาการจากโรคไทรอยด์ที่มักพบบ่อย?
จากที่ได้ทราบกันแล้วว่าโรคไทรอยด์คืออะไร และโรคไทรอยด์ยังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทที่มีความเกี่ยวข้องกับอาการผมร่วง คราวนี้เรามาดูอาการของโรคไทรอยด์ที่มักพบได้บ่อยกันบ้างค่ะ ว่าส่วนใหญ่แล้วหากเป็นโรคไทรอยด์นั้นมักจะมีอาการใดเกิดขึ้นกับร่างกายเราได้บ้าง
1. น้ำหนักเพิ่มมากขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติ
การที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ ถือเป็นอีกอาการที่พบได้บ่อยสำหรับโรคไทรอยด์ ด้วยหน้าที่สำคัญของต่อมไทรอยด์ที่ช่วยควบคุมการเผาผลาญพลังงานภายในร่างกาย การทำงานที่ไม่สมดุลของต่อมไทรอยด์จะทำให้ระบบการเผาผลาญเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยในผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ร่างกายจะมีการเผาผลาญที่มากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ
ส่วนผู้ที่มีภาวะไฮโปไทรอยด์จะมีการเผาผลาญที่ลดลง ทำให้ร่างกายมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ตามทั้งผู้ที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์หรือไทรอยด์เป็นพิษ และผู้ที่มีภาวะไฮโปไทรอยด์ นอกจากน้ำหนักที่ลดลงและเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติแล้ว การทำงานของระบบเผาผลาญที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจากความไม่สมดุลของต่อมไทรอยด์ ยังทำให้เกิดความรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าได้ง่าย แถมยังลดความอยากอาหาร หรือทำให้รู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันค่ะ
2. รู้สึกหนาวตลอดเวลาหรือขี้ร้อนมากขึ้น
การทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ นอกจากจะส่งผลในเรื่องของกระบวนการเผาผลาญพลังงานในร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการควบคุมอุณหภูมิในร่างกายได้ด้วยเช่นกัน จึงทำให้ผู้ที่เป็นไทรอยด์มักจะรู้สึกหนาวง่าย กลายเป็นคนขี้หนาว หรือในบางรายจะรู้สึกขี้ร้อน ไม่สบายตัวเวลาเจออากาศร้อนได้ค่ะ
3. ผมร่วง
ทราบหรือไม่คะ? ว่าผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์สามารถมีอาการผมร่วงได้ด้วยเหมือนกัน เพราะผมร่วงก็เป็นอีกหนึ่งในอาการที่กำลังแสดงให้เห็นว่า การทำงานของต่อมไทรอยด์ในร่างกายเราขาดความสมดุล โดยมักจะสังเกตเห็นได้ว่าบางคนจะมีผมร่วงมากกว่าจำนวนปกติแบบสังเกตเห็นได้ชัด เช่น ผมร่วงเป็นกระจุกในขณะสระผม มีผมร่วงมาก อย่างไรก็ตามอาการผมร่วงจากไทรอยด์เป็นเพียงอาการชั่วคราวที่สามารถหายเองได้ หากการทำงานของต่อมไทรอยด์กลับมาสมดุล
4. อาการทางตา
ผู้ป่วยโรคไทรอยด์จะมีอาการเกี่ยวกับตาไม่ว่าจะเป็น อาการระคายเคืองบริเวณตา ตาโปน ตาอักเสบ หนังตาบวม น้ำตาไหลง่าย ซึ่งเมื่อต่อมไทรอยด์กลับมาทำงานเป็นปกติ อาการดังกล่าวก็จะดีขึ้นและค่อย ๆ หายไป แต่ในบางรายมีอาการเกี่ยวกับตามาก ๆ เป็นแล้วไม่หาย อาจจำเป็นจะต้องรักษาอาการเกี่ยวกับตาที่เกิดจากโรคไทรอยด์ ด้วยการรับประทานยาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ หรือในบางรายหากมีอาการค่อนข้างหนักหรือรุนแรงอาจทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยการรับประทานยาได้ อาจจำเป็นจะต้องผ่าตัดเพื่อรักษาค่ะ
5. นอนไม่หลับ
อาการนอนไม่หลับจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ จากการที่ต่อมไทรอยด์มีการทำงานที่มากผิดปกติ การหลั่งฮอร์โมนที่มากขึ้นจนไปกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง สามารถทำให้เกิดการนอนหลับยาก รู้สึกนอนไม่หลับ จากที่สามารถนอนหลับได้อย่างปกติ
6. รู้สึกง่วงตลอดเวลา
คนที่รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ จึงทำให้รู้สึกไม่สดชื่น รู้สึกเพลีย รู้สึกง่วงอยู่ตลอดเวลา
7. ขับถ่ายไม่เป็นปกติ
ไม่ว่าจะท้องผูก หรือขับถ่ายบ่อยจนผิดปกติ หากกำลังมีอาการแบบใดแบบหนึ่งอยู่อาจจะกำลังมีภาวะไทรอยด์ที่ผิดปกติอยู่ได้ค่ะ ผู้ที่ขาดไทรอยด์จะมีอาการท้องผูก ขับถ่ายยาก ส่วนผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีการขับถ่ายบ่อยกว่าเดิม
8. อัตราการเต้นของหัวใจมีการเปลี่ยนแปลง
อาการไทรอยด์ที่พบได้บ่อยอาการสุดท้ายคืออาการใจสั่น ด้วยการทำงานที่ไม่สมดุลของต่อมไทรอยด์ยังส่งผลต่ออวัยวะการทำงานอื่นภายในร่างกายโดยเฉพาะหัวใจ ทำให้อัตราการเต้นของหัวใจมีความเปลี่ยนเแปลง ผู้ที่มีภาวะขาดไทรอยด์ จะมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าปกติ ส่วนผู้ที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษจะมีอัตราการเต้นของใจที่เร็วขึ้น ใจเต้นแรง มีอาการใจสั่น พร้อมทั้งเกิดความดันโลหิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วยค่ะ
เจาะลึกปัญหา “ผมร่วงจากไทรอยด์”
หลายคนสงสัยว่า แล้วโรคไทรอยด์มีความเกี่ยวข้องกับผมร่วงได้อย่างไร เพราะอย่างที่ทราบกันว่าหากมีอาการไทรอยด์ทำงานผิดปกติจะส่งผลต่อน้ำหนักอย่างเห็นได้ชัด คือมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างผิดปกติ แล้วแบบนี้จะเกี่ยวข้องกับเส้นผมอย่างไรกัน?
ในส่วนนี้ต้องขออธิบายว่าการทำงานที่ผิดปกติของไทรอยด์นั้น ไม่ว่าจะภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือไทรอยด์เป็นพิษ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่การทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ยังส่งผลกับเส้นผมไม่แพ้กัน
ในผู้ที่มีภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์หรือไทรอยด์เป็นพิษ อาการโดยหลัก ๆ คือ ร่างกายจะได้รับฮอร์โมนในปริมาณที่มากผิดปกติ จึงมีการขับไขมันออกมาที่รูขุมขนตามผิวหนัง เมื่อมีไขมันขับออกมาก็จะทำให้ผิวมัน ทั้งตามตัวและหนังศีรษะ เกิดการอุดตันในรูขุมขน ทำให้รากผมอ่อนแอ จนผมร่วง ส่วนผู้ที่มีไฮโปไทรอยด์หรือภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ ร่างกายจะได้รับฮอร์โมนไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต่อมไขมันทำงานน้อยลง จนผิวและหนังศีรษะแห้งเป็นรังแค เส้นผมเปราะบางขาดหลุดร่วงง่ายเช่นกัน
เป็นไทรอยด์แล้วผมร่วง อันตรายไหม
จริง ๆ แล้วอาการผมร่วงจากไทรอยด์ไม่ส่งผลอันตรายต่อร่างกายแต่อย่างใดค่ะ แต่การไม่รักษาอาการโรคไทรอยด์ และปล่อยให้โรคไทรอยด์ที่มีการทำงานผิดปกติไว้นาน ๆ อาจส่งผลเสียต่อร่างกายของเราขึ้นมาได้ค่ะ เพราะอย่างที่ทราบกันว่าต่อมไทรอยด์มีหน้าที่สำคัญในการหลั่งฮอร์โมนเพื่อควบคุมการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย การที่ปล่อยให้ต่อมไทรอยด์มีการทำงานที่ผิดปกติ หรือไม่สมดุลนานแบบนี้ก็จะส่งผลต่อน้ำหนักของร่างกายที่มีการแปรปรวน รู้สึกทำอะไรช้า มีความเฉื่อยชา และยังทำเส้นผมบนหนังศีรษะบางลงได้อีกด้วย
แม้ว่าโรคไทรอยด์จะทำให้ผมร่วงได้ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายก็ตาม แต่หากใครมีความกังวลอาการผมร่วงที่เกิดจากโรคไทรอยด์นั้นก็สามารถเข้ารับคำปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ โดยที่ Dr.Tarinee Hair Clinic มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านโรคเส้นผมและศัลยกรรมการปลูกผมจากศิริราช ที่พร้อมให้คำแนะนำ คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการไทรอยด์ที่ส่งผลให้ผมร่วง จนสร้างความไม่มั่นใจให้ผู้ที่กำลังเผชิญอาการ ได้รับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ
วิธีรักษาผมร่วงจากไทรอยด์
การรักษาเมื่อเป็นโรคไทรอยด์ ผมร่วงง่าย นอกจากจะรักษาตามอาการของโรคไทรอยด์ ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของผมร่วงแล้ว ยังมีวิธีการรักษาผมร่วงที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เพื่อบรรเทาไม่ให้ผมร่วงหมดจนเกิดหัวล้าน หรือถ้าหากอาการผมร่วงมีมากผิดปกติจนรักษาด้วยตัวเองไม่ได้ ก็ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยวางแผนรักษาอาการผมร่วงให้ดีขึ้นได้ ตามวิธีการที่สะดวกและเหมาะสม โดยวิธีที่รักษาผมร่วงจากไทรอยด์มีดังนี้ค่ะ
1. รักษาด้วยวิธีการปลูกผม
สำหรับวิธีแรกคือการปลูกผมถาวรซึ่งเป็นวิธีการรักษาผมร่วงที่เห็นผลได้อย่างรวดเร็ว โดยจะใช้เส้นผมของตัวเองมาปลูกให้มีผมขึ้นมาใหม่ แบ่งได้เป็น 2 วิธีหลักดังนี้
- การปลูกผมแบบ FUT คือการผ่าตัดรากผมที่บริเวณท้ายทอย ขนาดความกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร แล้วนำไปปลูกที่บริเวณกลางศีรษะ หรือบนหน้าผาก วิธีนี้เห็นผลได้ดีที่สุด แต่ต้องแลกมาด้วยแผลเป็นที่บริเวณท้ายทอย เหมาะกับคนที่ต้องการปลูกผมบริเวณกว้าง และมีหนังศีรษะที่ยืดหยุ่น ส่วนหลังปลูกผมเสร็จแล้ว ถ้าไว้ผมยาวก็จะมองไม่เห็นแผลเป็นจากการผ่าตัด
- การปลูกผมแบบ FUE คือการปลูกผมด้วยเครื่องมือขนาดเล็ก เจาะนำรากผมออกมาจากหนังศีรษะบริเวณท้ายทอย หรือเหนือกกหู แล้วนำรากผมที่ได้กลับไปปลูกใหม่ที่บริเวณกลางศีรษะหรือบนหน้าผาก สามารถกำหนดทิศทางของเส้นผมได้ตามที่ต้องการ วิธีนี้จะไม่มีแผลเป็นเหมือนแบบ FUT แต่จะเห็นผลได้น้อยกว่า และอาจทำให้ผมที่ท้ายทอยบางลงได้ นอกจากนี้การปลูกผมแบบ FUE ยังพัฒนาไปอีกหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น การปลูกผมแบบ Long hair FUE ที่ไม่ต้องโกนผม หรือการปลูกผมแบบ DHI ที่ใช้ปากกาปลูกผม (Implanter) เป็นเครื่องมือ
2. ฉีด PRP ผม
การฉีด PRP (Platelet Rich Plasma) คือการนำเลือดที่ได้จากตัวของคนไข้เอง ประมาณ 10 มิลลิลิตร มาปั่นแยกเป็นเกล็ดเลือดที่มีความเข้มข้นสูง โดยเลือดของตัวเราจะอุดมไปด้วยสารอาหาร Growth factor ซึ่งเป็นสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ จากนั้นนำเกล็ดเลือดเข้มข้นฉีดกลับเข้าไปที่บริเวณหนังศีรษะ เพื่อช่วยฟื้นฟูเซลล์ให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น
การรักษาผมร่วงด้วยวิธี PRP จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการสร้างเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงรากผมได้มากขึ้น กระตุ้นให้เกิดการงอกของเส้นผม ทำให้เส้นผมแข็งแรงลดการหลุดร่วง เหมาะสำหรับผู้ที่ผมบางจากโรคที่ทำให้ผมร่วง เช่น โรคไทรอยด์ เป็นต้น
3. ฉีดสเต็มเซลล์ผม
วิธีถัดมาเป็นการรักษาโดยการฉีดสเต็มเซลล์ผม (Rigenera Activa) คือการนำเซลล์รากผมของคนไข้ มาสกัดหาเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ของรากผม โดยจะคัดเลือกสเต็มเซลล์ที่โตเต็มวัย นำกลับไปฉีดเข้าหนังศีรษะของคนไข้ สเต็มเซลล์ที่ฉีดกลับเข้าไปจะช่วยซ่อมแซม และกระตุ้นการทำงานของรากผมที่เสื่อมสภาพ ให้กลับมาทำงานอย่างปกติ กระตุ้นการสร้างเส้นเลือดไปหล่อเลี้ยงรากผม ช่วยให้ร่างกายสร้างเซลล์รากผมขึ้นมาใหม่ได้อย่างแข็งแรง ซึ่งการฉีดสเต็มเซลล์ผมมักจะทำควบคู่กับเลเซอร์ LLLT เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของรากผมได้ดียิ่งขึ้น
4. ใช้เลเซอร์ LLLT
เลเซอร์ LLLT (Low Level Laser Light therapy) เป็นคลื่นแสงสีแดงมีความยาวคลื่นประมาณ 630-680 นาโนเมตร โดยพลังงานจากเลเซอร์จะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของเซลล์ ทำให้เซลล์รากผมแข็งแรงขึ้น ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ส่งผลให้เลือดเข้าไปหล่อเลี้ยงรากผมได้มากขึ้น รวมถึงช่วยให้เส้นผมกลับมางอกอย่างแข็งแรง
นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวเกิดความยืดหยุ่น ช่วยสมานแผล และยังช่วยชะลอการหลุดร่วงของเส้นผมได้เป็นอย่างดี โดยการใช้เลเซอร์ LLLT จะต้องทำอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผลอย่างชัดเจน
5. ยาแก้ผมร่วง
การรักษาผมร่วงยังสามารถรักษาโดยใช้ยาได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการใช้ยาแก้ผมร่วง ที่มีทั้งแบบทานและแบบหยอดหนังศีรษะ โดยในประเทศไทยจะมีแก้ผมร่วงที่ผ่านการรับรอง 2 ชนิด ได้แก่
- ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) เป็นยาเม็ดสำหรับทาน ช่วยยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชาย หรือฮอร์โมน DHT ปกติแล้วใช้สำหรับรักษาโรคต่อมลูกหมากโต แต่ก็สามารถนำมาช่วยรักษาอาการผมร่วงได้เช่นกัน เนื่องจากฮอร์โมน DHT ถ้าหากมีมากเกินไปในร่างกาย จะทำให้เส้นผมเริ่มมีขนาดเล็กลงและหยุดเจริญเติบโต จนเป็นสาเหตุของผมร่วงผมบางได้
- ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) เป็นยาใช้หยอดเฉพาะที่ มีคุณสมบัติช่วยขยายหลอดเลือด ปกติแล้วจะนำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง แต่ผลข้างเคียงทำให้มีเส้นผมงอกขึ้นมามากขึ้น เนื่องจากตัวยาจะเข้าไปขยายหลอดเลือดบริเวณรากผมด้วย ทำให้รากผมรับสารอาหารจากเลือดได้มากขึ้น ทำให้รากผมที่ฝ่อกลับมาทำงานได้ดีจนมีผมงอกขึ้นมาอีกครั้ง
ยาทั้ง 2 ชนิด เหมาะกับผู้ที่เริ่มผมร่วง ผมบางในระยะเริ่มต้น และต้องใช้ต่อเนื่องจึงจะเห็นผล แต่สำหรับผู้ที่ผมบางมาก หรือผมร่วงจนหัวล้าน ยาแก้ผมร่วงอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีมากนัก
6. วิตามินบำรุงผม
หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมผมถึงร่วง ? ซึ่งบางครั้งผมร่วงอาจจะเกิดจากการขาดวิตามิน เพราะวิตามินนอกจากจะมีความสำคัญต่อร่างกายแล้ว ยังมีความสำคัญต่อเส้นผมด้วย ดังนั้นการเสริมวิตามินบำรุงผมที่อยู่ในสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย ก็สามารถช่วยบำรุงผมไปในตัวได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น วิตามินบี 7 หรือไบโอติน วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี วิตามินดี วิตามินบี ซิงค์หรือสังกะสี สารอาหารเหล่านี้มีส่วนช่วยให้เส้นผมสุขภาพดี แข็งแรง ชุ่มชื้น ไม่ขาดหลุดร่วงง่าย
กู้ผมร่วง ให้กลับมาหนาแบบมั่นใจ อ่านบทความ : 10 วิธีแก้ผมร่วง ลดผมร่วงพร้อมโบกมือลาปัญหาผมร่วงทันที
สรุปวิธีแก้ปัญหาผมร่วงจากไทรอยด์
โรคไทรอยด์ถือเป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ที่มีความผิดปกติ จนส่งผลกระทบกับร่างกาย รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับเส้นผมด้วย ไม่ว่าจะปัญหาผมร่วง ผมบาง ที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ ความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งปัญหาผมร่วงจากไทรอยด์เป็นอาการชั่วคราวที่สามารถหายเองได้
อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาเรื้อรังมานาน การแก้ปัญหาผมร่วงจากโรคไทรอยด์สามารถแก้ได้หลากหลายวิธีตามลักษณะอาการ และความเหมาะสมในการรักษา ทั้งการรับประทานยาแก้ผมร่วง วิตามินบำรุงผม รวมไปถึงการรักษาอาการผมร่วงด้วยวิธีต่าง ๆ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
อย่างไรก็ตามการรักษาอาการผมร่วงที่เกิดจากโรคไทรอยด์ ควรเข้ารับรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะที่คลินิกหรือโรงพยาบาล แต่หากท่านใดกำลังมองหาสถานที่ในการรักษาผมร่วงจากไทรอยด์ ที่มีความเชี่ยวชาญจากแพทย์เฉพาะด้านเส้นผมและศัลยกรรมการปลูกผมจากศิริราช และพร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับอาการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย รวมถึงพร้อมให้การรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสมตรงจุดในปัญหาที่กังวลใจ สามารถติดต่อได้ที่ช่องทางดังต่อไปนี้ค่ะ
Website : Dr.Tarinee Hair Clinic
Line : @drtarinee
Facebook : Dr.Tarinee Hair Clinic ปลูกผม รักษา ผมร่วง ผมบาง
Ref.
Amanda Barrell. (November 5, 2019). What to know about thyroid function and hair loss. https://www.medicalnewstoday.com/articles/326902#the-link
Mary Shomon. (July 10, 2021). The Link Between Thyroid Disease and Hair Loss. https://www.verywellhealth.com/thyroid-disease-hair-loss-3231697
Michael Dansinger. (January 28, 2023). Thyroid Symptoms and Solutions. https://www.webmd.com/women/ss/slideshow-thyroid-symptoms-and-solutions