ยาแก้ผมร่วง

สำหรับผู้ที่มีปัญหาผมร่วง ผมบาง หรือปัญหาศีรษะล้าน “ยาแก้ผมร่วง” เป็นตัวเลือกหนึ่งที่เข้าถึงได้ง่าย มีหลากหลายยี่ห้อหลากหลายแบบ หลายคนจึงนิยมใช้เพื่อรักษาอาการผมร่วง แต่ในความเป็นจริงแล้วยาแก้ผมร่วงเหล่านี้จะช่วยได้จริงหรือไม่ ปลอดภัยหรือเปล่า?

ในบทความนี้หมอจะมาให้คำแนะนำที่ถูกต้องเกี่ยวกับยาแก้ผมร่วงว่า ผลิตภัณฑ์แก้ผมร่วงแบบไหนดี ยารักษาผมร่วงได้จริงไหม มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง รวมถึงให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับยารักษาผมร่วงสำหรับผู้หญิง มาติดตามอ่านไปพร้อมกันเลยค่ะ



“ผมร่วง” คืออะไร มีลักษณะอย่างไร

ลักษณะผมร่วง
“ผมร่วง” คืออะไร มีลักษณะอย่างไร

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับยาแก้ผมร่วง หมอจะพามาทำความรู้จักกับอาการผมร่วง ผมบางก่อนว่า ผมร่วงคืออะไร ผมร่วงเกิดจากอะไร มีลักษณะอย่างไร เพื่อให้ทุกคนเข้าใจอาการผมร่วงได้มากยิ่งขึ้นค่ะ

ผมร่วง (Alopecia หรือ Hair Loss) คือการที่เส้นผมบนหนังศีรษะมีอาการผมร่วงผิดปกติ โดยสามารถสังเกตได้ง่าย ๆ จากผมจับกันเป็นกระจุกในแปรงหวีผม ผมร่วงเยอะมากหลังจากสระผม หรือมีผมขาดร่วงจนเห็นเป็นหย่อม ๆ ซึ่งปกติแล้วคนเราจะมีผมร่วงวันละประมาณ 100-150 เส้น หากพบว่าตนเองมีอาการผมร่วงผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวางแผนการรักษาต่อไปค่ะ


สาเหตุของปัญหาผมร่วง ผมบาง

สาเหตุของผมร่วง ผมบาง และปัญหาศีรษะล้าน สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายสาเหตุ ดังนี้ค่ะ

  • กรรมพันธุ์

ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ (Androgenetic Alopecia : AGA) สามารถพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย แต่โดยส่วนมากมักพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง เนื่องจากฮอร์โมน DHT (Dihydrotertosterone) ที่เป็นตัวการทำให้รากผมเสื่อมสภาพพบมากในเพศชายค่ะ ซึ่งลักษณะผมร่วงจากกรรมพันธุ์นี้จะมีเส้นผมบาง ผมขาดร่วงง่าย มีผมที่ขึ้นใหม่ไม่แข็งแรง 

สาเหตุของอาการผมร่วงจากกรรมพันธุ์เกิดจากยีนตัวหนึ่งที่อยู่บนโครโมโซม X ได้ไปทำให้ Androgen receptor ที่เป็นตัวรับฮอร์โมน DHT ทำงานได้ดียิ่งขึ้น จึงทำให้เกิดปัญหาผมบาง หัวล้านขึ้นนั่นเอง

  • ฮอร์โมน

ฮอร์โมนที่เป็นตัวการหลักทำให้ผมงอกใหม่มีขนาดเล็กลงและบางลงคือ ฮอร์โมน DHT โดยฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเข้ามาที่บริเวณรากผม เอนไซม์บริเวณนั้นจึงเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเป็นฮอร์โมน DHT ทำให้ผมที่งอกขึ้นมาใหม่เส้นเล็กลง และบางลงเรื่อย ๆ หากรากผมผลิตผมน้อยลงจนรากผมฝ่ออาจเกิดปัญหาหัวล้านตามมาได้ค่ะ นอกจากนี้ปัญหาผมร่วงจากฮอร์โมน DHT นี้ยังสัมพันธ์กับกรรมพันธุ์อีกด้วย 

  • ความเครียด

เชื่อไหมคะว่า ปัญหาความเครียดสะสมสามารถทำให้เกิดปัญหาผมร่วงได้ค่ะ หากร่างกายเกิดความเครียดขึ้น ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนแห่งความเครียด หรือฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้เส้นผมอ่อนแอลงได้

  • โรคภัยไข้เจ็บ

โรคบางชนิดสามารถเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการผมร่วงได้ เช่น โรคผิวหนังอักเสบที่รบกวนการเจริญเติบโตของเส้นผม โรคต่อมไทรอยด์ การติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย เป็นต้น รวมถึงการติดเชื้อซิฟิลิส เอชไอวี ที่ทำให้เกิดผมร่วงได้

  • ผมร่วงหลังทำเคมีบำบัด

การทำคีโม หรือเคมีบำบัดเป็นการใช้ยาเคมีเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยยาเคมีนี้จะเข้าถึงเซลล์มะเร็งผ่านทางกระแสเลือด ทำให้เซลล์ที่มีการเพิ่มจำนวนแบบรวดเร็ว เช่น เซลล์รากผม เซลล์เยื่อบุในช่องปากได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เกิดอาการผมร่วง ผมบาง หรือปัญหาศีรษะล้านได้

  • ผมร่วงหลังคลอด

อาการผมร่วงหลังคลอดมักเกิดหลังคลอดประมาณ 2-3 เดือน โดยเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ซึ่งอาการนี้เป็นอาการชั่วคราว และจะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติภายใน 6-12 เดือนหลังคลอด

  • ยาที่ใช้

ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาฆ่าเชื้อ ยารักษาสิว สามารถเป็นสาเหตุของผมร่วง ผมบางได้ค่ะ เนื่องจากยาบางตัวจะเข้าไปลดการทำงานของต่อมไขมัน ซึ่งต่อมไขมันนี้เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการหล่อเลี้ยงเส้นผม จึงทำให้การเจริญเติบโตของเส้นผมช้าลง และค่อย ๆ ลดน้อยลงจนเกิดปัญหาผมต่าง ๆ ตามมา

  • รังแค

รังแค เป็นสาเหตุทางอ้อมที่ทำให้ผมร่วงโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการเป็นรังแคทำให้เกิดอาการคันหนังศีรษะ หากยิ่งเกาก็จะยิ่งทำลายเส้นผมมากขึ้นเท่านั้น

  • กิจวัตรประจำวัน

การใช้ชีวิตประจำวันที่ติดเป็นความเคยชิน สามารถเป็นสาเหตุทางอ้อมให้ผมร่วงได้เช่นกัน เช่น การเลือกกินอาหาร ขาดสารอาหารหรือแร่ธาตุ ความเครียดที่สะสม เป็นต้น


แนะนำยาแก้ผมร่วง ใครใช้ได้บ้าง?

ยารักษาผมร่วง
แนะนำยาแก้ผมร่วง ใครใช้ได้บ้าง?

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ยาแก้ผมร่วงเป็นเพียงยารักษาอาการผมร่วง ผมบางในระยะเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้หายขาดหรือใช้เป็นยารักษาหัวล้านได้นะคะ นอกจากนี้ยาแก้ผมร่วงในร้านขายยา หรือร้านค้าอื่น ๆ จะมีคุณสมบัติและผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน ไม่ควรซื้อรับประทานเองหากไม่ได้ปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อน 

ผู้ที่ต้องการรับประทานยาแก้ผมร่วง หรือยาปลูกผม ควรจะต้องรู้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวยาก่อน โดยหมอจะอธิบายให้ฟังนะคะ

สำหรับตัวยาแก้ผมร่วงที่ผ่านการรับรองจากทางการแพทย์ในประเทศไทยจะมีเพียง 2 ตัวเท่านั้น ได้แก่ ฟีนาสเตอไรด์ในรูปแบบยารับประทาน (Finasteride) และ ไมนอกซิดิล ในรูปแบบยาหยอดหนังศีรษะ (Minoxidil) โดยหมอจะอธิบายรายละเอียดยาแก้ผมร่วง ดังต่อไปนี้ค่ะ

1. ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride)

ยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) คือยากินแก้ผมร่วงสำหรับผู้ชายรูปแบบเม็ด สามารถใช้รักษาอาการผมร่วงที่มีสาเหตุมาจากกรรมพันธุ์และฮอร์โมนได้ แต่ไม่ใช่ยาแก้หัวล้านนะคะ โดยยาฟีนาสเตอไรด์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างฮอร์โมน DHT ฮอร์โมนต้นเหตุที่ทำให้เส้นผมบางลง นอกเหนือจากนี้ยาฟีนาสเตอไรด์ยังใช้รักษาโรคอื่น ๆ ได้ เช่น ภาวะเพศชายมากเกินในเพศหญิง โรคต่อมลูกหมากโต เป็นต้น

อย่างไรก็ตามตัวยาฟีนาสเตอไรด์จะใช้รักษากับผู้ที่มีอาการผมร่วงในระยะเริ่มต้นเท่านั้น หากผู้ที่มีปัญหาหัวล้านหรือรากผมฝ่อไปแล้วอาจรักษาไม่เห็นผล โดยผลลัพธ์ของยาตัวนี้จะค่อย ๆ เห็นผลเมื่อใช้ยาต่อเนื่องกันประมาณ 3-6 เดือน และจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนเมื่อผ่านไปประมาณ 1 ปี 

2. ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil)

ยาไมนอกซิดิล (Minoxidil) เป็นยาตัวเดียวที่ได้รับรองว่าเป็นยารักษาผมร่วงสำหรับผู้หญิงยาแก้ผมร่วงนี้สามารถแก้ปัญหาผมร่วงได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย แต่เดิมยาไมนอกซิดิลเป็นยาที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ลดความดันโลหิตสูง เมื่อผู้ป่วยใช้ยาตัวนี้ไประยะหนึ่งพบว่ามีผลข้างเคียงจากการใช้ยาคือ ผมงอกใหม่ แต่ทั้งนี้จะไม่ใช้ยาตัวนี้ในรูปแบบรับประทาน เนื่องจากมีผลข้างเคียงเรื่องความดันโลหิต จึงใช้ในรูปแบบทาหรือหยอดหนังศีรษะเท่านั้น

โดยยาไมนอกซิดิลรูปแบบทา หรือหยอดบริเวณหนังศีรษะเฉพาะที่ จะออกฤทธิ์กระตุ้นรากผมที่ฝ่อให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพ รวมถึงช่วยขยายหลอดเลือดที่เลี้ยงรากผมเพื่อให้ผมที่งอกใหม่มีเส้นหนาและแข็งแรงขึ้น

สำหรับผลลัพธ์ของตัวยาไมนอกซิดิลแบบทาหรือหยอด จะใช้ระยะเวลาคล้ายกับยาฟีนาสเตอไรด์คือ ต้องใช้อย่างน้อยต่อเนื่อง 3-6 เดือนถึงจะเริ่มเห็นผล และจะเห็นผลลัพธ์ชัดเจนหลังจากใช้อย่างน้อย 1 ปี

อ่านบทความเพิ่มเติม : วิตามินบำรุงผม และ อาหารบำรุงผม


วิธีแก้ผมร่วง นอกจากการใช้ยา

วิธีแก้ผมร่วง
วิธีแก้ผมร่วง นอกจากการใช้ยา

สำหรับใครที่มีคำถามว่า มีวิธีแก้ผมร่วงนอกจากการใช้ยาแก้ผมร่วงไหม? หากคุณมีปัญหาผมร่วงและไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ด้วยการทานยาแก้ผมร่วง ในทางการแพทย์ก็ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยรักษาปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้านได้หลากหลายวิธี โดยรายละเอียดของวิธีแก้ผมร่วงนอกจากการใช้ยามีดังนี้

  • ปลูกผม FUE

การปลูกผม FUE (Follicular Unit Extraction) คือการเจาะเอากอรากผมของผู้เข้ารับการรักษาออกมา เพื่อปลูกถ่ายเซลล์รากผมลงบนตำแหน่งศีรษะที่ต้องการรักษา หลังปลูกผมไปแล้วผมที่งอกใหม่จะแข็งแรงขึ้น ไม่มีการหลุดร่วงแบบผิดปกติซ้ำ

  • ปลูกผม FUT

การปลูกผม FUT (Follicular Unit Hair Transplant) คือเทคนิคที่ใช้การผ่าตัดบางส่วนของหนังศีรษะ เพื่อนำเซลล์รากผมบริเวณแข็งแรงมาปลูกกลับเข้าไปบริเวณที่ผมร่วง การปลูกผมแบบ FUT มีข้อดีคือรากผมเสียหายน้อย จึงทำให้มีโอกาสปลูกผมติดมากขึ้น 

  • ปลูกผม DHI

ปลูกผม DHI (Direct Hair implantation) เป็นการปลูกผมที่แยกมาจากการปลูกผมแบบ FUE ใช้อุปกรณ์พิเศษคล้ายปากกาเพื่อใช้นำกราฟต์ผมที่เจาะออกมาใส่กลับเข้าไปในยังปากกา เพื่อปลูกกราฟต์ผมกลับเข้าไปในบริเวณที่เราต้องการ

  • ฉีดสเต็มเซลล์ผม (Rigenera)

ฉีดสเต็มเซลล์ผม (Rigenera) เป็นการนำเอาสเต็มเซลล์ของผู้เข้ารับการรักษาเอง มาสกัดด้วยเครื่องมือพิเศษ จากนั้นจึงนำมาฉีดลงบนหนังศีรษะเพื่อให้ผมกลับมาแข็งแรง มีการสร้างผมใหม่ หลุดร่วงน้อยลง สร้างเม็ดเลือดให้ไปเลี้ยงเซลล์รากผมอย่างทั่วถึงเป็นต้น 

  • ฉีด PRP ผม

การฉีด PRP ผม (Platelet Rich Plasma) หรือที่เรียกกันว่า “การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น” โดยวิธีนี้เป็นการนำเลือดของตนเองมาปั่นแยกเกล็ดเลือดด้วยเครื่องปั่น เพื่อช่วยเพิ่มอาหารผม ผมงอกใหม่ดีขึ้น สามารถใช้เป็นยารักษาผมร่วงในผู้หญิงได้ด้วยนะคะ

  • เลเซอร์ LLLT

เลเซอร์ LLLT (Low Level Laser Light therapy) คือเลเซอร์ความเข้มข้นที่ช่วยรักษาอาการผมร่วงในระยะเริ่มต้น โดยลดอาการหนังศีรษะอักเสบได้ด้วย มีผลข้างเคียงน้อย


ข้อดีของยาแก้ผมร่วง

  1. ยาแก้ผมร่วงใช้รักษาในระยะยาว สามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องเข้าพบแพทย์และเดินทางบ่อย ๆ 
  2. ไม่มีรอยแผลเป็นทิ้งไว้ตามร่างกาย 
  3. ผู้ที่ตอบสนองกับยาแก้ผมร่วงจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ในระยะเวลา 3-6 เดือนขึ้นไป

ผลข้างเคียงของยาแก้ผมร่วง อันตรายไหม?

ถึงแม้ว่ายาแก้ผมร่วงจะเป็นยาที่สามารถวางขายได้ตามร้านขายยา แต่ถ้าหากซื้อยามาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนอาจส่งผลข้างเคียงที่รุนแรงแก่ตนเองได้ โดยผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ผมร่วง มีดังต่อไปนี้ค่ะ

  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ผมร่วงฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride)
  • ในเพศชายอาจมีผลทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ เช่น อวัยวะเพศแข็งตัวยากขึ้น น้ำอสุจิลดลง เป็นต้น เนื่องจากยาตัวนี้ไปลดการสร้างฮอร์โมน DHT แต่ถ้าหากหยุดยาแล้วอาการก็จะกลับมาเป็นปกติ
  • ภาวะซึมเศร้า
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาปลูกผมไมนอกซิดิล (Minoxidil)

ชนิดเม็ด

  • การเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • เวียนศีรษะ หายใจลำบาก
  • หน้ามืด เป็นลม 
  • หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก

ชนิดน้ำทาภายนอก

  • อาจทำให้ผิวบริเวณที่ทาแห้งได้ เนื่องจากตัวยาแบบน้ำมักมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  • มีรายงานการแพทย์ยาไมนอกซิดิลชนิดทาอยู่บ้าง ซึ่งจะเป็นการแพ้ตัวทำละลาย หากมีอาการคันหรือผื่นหลังใช้ยา แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติมค่ะ

เนื่องจากตัวยาไมนอกซิดิลชนิดเม็ดมีผลข้างเคียงต่อร่างกายของคนเรามาก จึงไม่นิยมใช้ในการรักษาค่ะ

แนะนำวิธีแก้ปัญหาผมร่วงเพิ่มเติม : แก้ผมร่วงด้วยวิธีธรรมชาติ


ยาแก้ผมร่วง ใช้ร่วมกับการปลูกผมได้ไหม

ยารักษาหัวล้าน
ยาแก้ผมร่วง ใช้ร่วมกับการปลูกผมได้ไหม

การใช้ยาแก้ผมร่วงสามารถใช้ร่วมไปพร้อมกับการปลูกผมได้นะคะ เพราะเป็นวิธีการรักษาผมร่วงที่ได้ประสิทธิภาพสูง แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์เท่านั้น จึงจะสามารถวางแผน แก้ไขปัญหาผมร่วงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้หยุดการใช้ยา และใช้วิธีรักษาแบบอื่นร่วมกันแทนค่ะ


สรุปการใช้ยาแก้ผมร่วง 

ยาแก้ผมร่วงเป็นยาที่ใช้รักษาปัญหาผมร่วง ผมบางในเบื้องต้นเท่านั้น ไม่ใช่ยาแก้ผมร่วงถาวร นอกจากนี้หากซื้อรับประทานเองโดยไม่มีแพทย์หรือเภสัชกรคอยแนะนำ อาจเกิดผลข้างเคียงตามมาได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับยาแก้ผมร่วง หรือรับประทานยามาสักพักแล้วแต่ยังไม่เห็นผล สามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านเส้นผมกับหมอโดยตรงได้เลยค่ะ 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Medication for Hair Loss. (n.d.). NYU Langone Health. https://nyulangone.org/conditions/hair-loss/treatments/medication-for-hair-loss

Muinos, L. (2022, February 21). Hair Loss Medications: Where to Get, Effectiveness, and Side Effects. Healthline. https://www.healthline.com/health/hair-loss-medication